ไม่เอาศักดินาอนาจาร

อินทรายุธ เขียน

[To read “Against Feudal Obscenity” with an introduction in English, click here.]

เอกสารชุดนี้ประกอบไปด้วย
1. บทความ “บทอัศจรรย์เป็นลักษณะการประพันธ์ของชนชั้นที่ทึกทักตนเป็นสมมติเทวดา”
2. บทความ “ลิลิตพระลอ…วรรณคดีศักดินา” (ฉบับดั้งเดิม)

จาก ข้อคิดจากวรรณคดี ฉบับพิมพ์ใหม่ พ.ศ. 2561 เนื่องในโอกาส 100 ปี ชาตกาล อัศนี พลจันทร โดยโครงการ “อ่านนายผี” สำนักพิมพ์อ่าน
ทั้งสองบทความตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2493 ในนิตยสาร อักษรสาส์น


บทอัศจรรย์เป็นลักษณะการประพันธ์ของชนชั้นที่ทึกทักตนเป็นสมมติเทวดา

เรื่องบทอัศจรรย์ ได้เป็นปัญหาโต้เถียงกันในหมู่นักศึกษาวรรณคดีรุ่นใหม่อยู่ประปราย ว่าชอบไม่ชอบประการไร และถ้าชอบ จะทำอย่างไรบทอัศจรรย์จึงจะเป็นศิลปะ ไม่หยาบโลนระคายตาหูผู้อ่านฟัง?

มีผู้ตำหนินวนิยายสมัยใหม่ ที่ใช้วิธีเขียนอย่างโลดโผนว่าหยาบ และมีผู้ที่แนะนำให้นำคดีสู่ศาลก็มี นักเขียนรุ่นใหม่โต้เถียงว่า นวนิยายเหล่านั้นมีข้อเขียนเป็น ศิลปะ ไม่ผิดกฎหมาย และไม่เป็นสิ่งหยาบคายอย่างไร ถ้าจะถือว่าหยาบเพราะล่อแหลมต่อภาพของธรรมชาติแล้ว ก็ยังมีกาพย์กลอนของเราอีกมากที่ส่อให้เห็นภาพอันเรียกว่าหยาบเหล่านั้นชัดอยู่ในตอนที่เรียกว่า บทอัศจรรย์

ข้อผิดกฎหมายหรือไม่ เป็นเรื่องฝ่ายนักกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องฝ่ายนักศึกษาวรรณคดี แต่ที่นักเขียนนวนิยายเถียงไปถึงบทอัศจรรย์ในกาพย์กลอนของเก่านั้น ทำเอาท่านผู้ลากมากดีผู้มีจริตติดจะสะดิ้ง สะดุ้งอึกอักพูดไม่ออกไปนานครัน

ต่อมาก็มีท่านผู้รู้หลักนักปราชญ์บางคนอ้างว่า บทอัศจรรย์ไม่เป็นเรื่องหยาบลามก เป็นคำไพเราะสละสลวยต่างหาก ที่รจนานั้นก็ใช้คำแนบเนียน ไม่มีถ้อยคำจำพวกหยาบหรือลามกแม้แต่สักคำเดียว อย่างไรก็ดี ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าถ้อยคำและความที่เป็นบทอัศจรรย์นั้นวางลงไว้เป็น ง่ามแง่ อาจตีความหมายได้หลายอย่าง (Ambiguous) จะตีตามตัวอักษรเปื่อยๆไปก็ได้ หรือจะตีให้ต่ำลงจนหยาบแทบฟังไม่ได้ก็ได้ ท่านผู้รู้หลักนักปราชญ์เหล่านั้นไม่เถียงเลยจนคำเดียว ว่าตีความหมายให้ต่ำดิ่งลงไปเช่นนั้นไม่ได้ ดูเหมือนออกจะภูมิๆเสียด้วยซ้ำ ที่ตนสามารถเขียน หรือตนสามารถทราบความที่ ตีลึกลงไป เช่นนั้นได้ ดูจะเข้าใจว่า เก่ง เสียด้วยซ้ำ แต่ก็ยังทำเป็นทำนองเต่าใหญ่ไข่กลบว่า ผู้ใดตีความในทางต่ำเช่นนั้น ก็จัดว่าผู้นั้นมีความคิดต่ำไปเอง ตนหรือผู้แต่งหาเกี่ยวข้องด้วยไม่

แท้จริงเราน่าจะคิดกันสักหน่อย ว่า เมื่อเล็งเห็นว่าความอาจถูกตีออกไปเป็นสองแง่ได้ฉะนั้นแล้ว และตนไม่ประสงค์จะให้เข้าใจไปข้างต่ำและหยาบโลน ก็จะหลีกเลี่ยงเสียไม่ให้มีแง่ออกไปสู่ความต่ำช้าเช่นนั้นไม่ได้หรือไฉน? ถ้าทำไม่ได้ จะได้ชื่อว่าเป็นคนเก่งได้อย่างไร? ต้องเป็นคนเซ่อที่ไม่สามารถจะแต่งคำประพันธ์ไม่ให้อาจมีความหมายไปในทางไม่ดีได้ ดังนี้จึงจะถูก

อีกประการหนึ่ง ข้อความตอนที่เป็นบทอัศจรรย์นั้น ก็ไม่เห็นเกี่ยวแก่เรื่องตอนเข้าพระเข้านางอย่างไรเลย มีอยู่บ้างที่เกี่ยว แต่ก็เกี่ยวไปอย่างเฉียดๆ แล้วลึกต่ำลงสู่ ธรรมชาติแห่งสัตว์ หรือไถลไปสู่สิ่งนอกเรื่องอื่นๆ ไม่เกาะอยู่เฉพาะภาพของเรื่องตอนนั้น ก็เมื่อเช่นนี้จะนำมาพูดให้เป็นเรื่องไปทำไม มองไม่เห็นประโยชน์โพดผลเลย บทอัศจรรย์เช่นนั้นดูไม่จำเป็น

แต่พวกหัวเก่าก็อดไม่ได้ที่จะมีบทอัศจรรย์ไว้ประดับสิ่งที่ตนเรียกว่า วรรณคดี  มี “ท่านอาจารย์” บางคน ที่ถูกเรียกว่าเป็นนักประพันธ์ เป็นบัณฑิตสมัยนี้ ได้พยายามแต่งบทอัศจรรย์แบขายกลางตลาด ใครผ่านไปผ่านมาก็ได้เห็น ใช่แต่เท่านั้น ยังทำรูปภาพประกอบอีกด้วย น่าขนลุก

ดังนี้ จะให้เห็นและเชื่อไปตามลมปาก ว่า บทอัศจรรย์ไม่เป็นของหยาบ ไม่เนื่องด้วยสิ่งลามกอันเป็นสภาพของสัตว์อย่างไรได้? แท้ที่จริง พวกเก่า และ พวกหัวเก่า ทั้งหลาย ต่างก็พอใจแต่งและอ่านบทอัศจรรย์กันทั้งนั้น อย่างคึกคะนอง เมื่ออ่านไปแต่งไป หน้าไหนหนอที่จะไม่มองภาพอัศจรรย์ไปในทางที่ต่ำลึกลงสู่สภาพอันลามก เป็นความสุขสำราญเต็มที่ตามนิสสัยของเขาเหล่า “ผู้ดี” ทั้งหลาย?

แต่และแล้ว ด้วยตนทำหน้าไหว้หลังหลอก เที่ยวพูดพร่ำรำพัน ว่า สิ่งที่เรียกว่าลามกหยาบช้านั้นไม่ดี อย่าให้ใครทำ เมื่อตนเองก็ชอบ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็กลัวและอายที่จะเปิดเผยว่าตนเป็นผู้ทำสิ่งที่ตนห้ามและตนติเตียน และตนทำเกลียดชัง ครั้นจะไม่ทำสิ่งที่ตนชอบนั้นก็ไม่ได้ จึงต้องทำ แต่ทำให้เป็น ง่ามแง่ เอาไว้สำหรับเลี่ยงการเจรจา พวก ผู้ดี ทั้งหลายนั้น เป็นคนช่างเจรจานัก ฝึกฝนกันมาแต่เล็กแต่น้อยที่จะพูดตลบตะแลงให้รอดตัวไป

การเขียนบทอัศจรรย์ขึ้น ก็เพราะพวกที่เขียนเป็นพวก ผู้ดี นิสสัยของพวกเหล่านี้หมกมุ่นมัวเมาอยู่แต่ในกามราคะ ซึ่งตนคิดเห็นว่าเป็นความสุขอันประเสริฐสุด การขาดสิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้อารมณ์แห้งแล้งและขุ่นมัวไป พวกนี้มีเครื่องบำเรอบำรุงความสุขประเภทที่ว่านี้มากมายหลายอย่าง กาพย์กลอนที่มีบทอัศจรรย์ก็เป็นเครื่องบำเรอบำรุงความสุขส่วนหนึ่งของเขา เขาจึงได้เขียน หรือจัดให้มีการเขียนขึ้นไว้ เพื่อตนอ่านฟังเอง แต่ต้องเขียนให้เป็นง่ามแง่ เพื่อประโยชน์ที่จะเอาไว้โต้เถียงเมื่อมีใครมาติเตียนว่าเป็นบทหยาบลามกในภายหลัง

ยิ่งกว่านี้ บทอัศจรรย์เป็นเครื่องก่อความลุ่มหลงในเรื่องเหลวไหล นอกไปจากทำตัวเป็นหมาจิ้งจอกหางด้วนแล้ว พวก “ผู้ดี” ซึ่งเป็นชนชั้นปกครอง ยังมองเห็นประโยชน์ที่จะ ทำให้ประชาราษฎร์คลั่ง ในเรื่องเหล่านี้อย่างงมงาย เพื่อตนจะได้กุมจิตต์ใจอยู่และปกครองง่ายอีกด้วย กาพย์กลอนที่มีบทอัศจรรย์ทั้งหลายแหล่ ก็เป็นเครื่องมือสำหรับปกครองอย่างหนึ่งที่ชนชั้นปกครองฝ่ายปฏิกิริยาได้ใช้มาเสียจนชิน

แต่ก็ลืมที่จะกล่าวความขบขันข้อหนึ่งเสียมิได้คือบทอัศจรรย์อันลามกอย่างปฏิเสธมิได้นี้ ได้กลับกลายเป็น fashion อย่างหนึ่งของการรจนากาพย์กลอนไทย ท่านนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายล้วนแต่นิยมชมชอบ พอใจที่จะอ่าน และถ้ามีโอกาสแต่งกะเขาได้บ้าง ก็ไม่เว้นที่จะแต่งเสียทีเดียว พวกเหล่านี้เป็นพวกมีความคิดล้าหลัง, เก่า, คร่ำครึ และฟุ้ง ที่เป็นพวกผู้ดีแปดสาแหรก ก็ได้แต่งไปตามนิสสัยที่อบรมกันมา แต่พวกที่คลั่งจะเป็น “ผู้ดี” กะเขาบ้าง ก็อดไม่ได้ที่จะเดินแบบหลับตาคะมำไปในความโง่  fashion ในสวนสวรรค์นันทวโนทยาน Eden เช่นว่านี้ จึงมีอยู่ดาดดื่นในวรรณกรรมสยาม


ลิลิตพระลอ…วรรณคดีศักดินา

“หนังสือลิลิต ที่นับถือกันว่าเป็นตำราวรรณคดีชั้นเยี่ยม แต่โบราณจนกาลบัดนี้ มี 3 เรื่อง คือ ยวนพ่าย พระลอ และ เตลงพ่าย

กองวิชาการ กระทรวงธรรมการ

ฉะนั้น “ครั้นมาศก (2477) นี้ กระทรวงธรรมการได้กำหนด พระลอลิลิต ให้ใช้เป็นแบบเรียนวรรณคดีสำหรับการสอบไล่ประโยคมัธยมบริบูรณ์”

และยังได้ใช้เรียนในชั้นอุดมศึกษา (แผนกอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย) อีกเล่า

หนังสือ จินดามณี ซึ่งเป็นตำราวิชาหนังสือไทยรุ่นแรก ก็ได้ใช้โคลงในลิลิตเรื่อง พระลอ เป็นตัวอย่างของแบบโคลงสี่สุภาพ

คำยกย่องเป็นดังลมพายุพัดกระพือมาเนิ่นจำเนียรกาล แต่คำยกย่องนั้น จะเป็นอย่าง เจ้าว่างามก็งามไปตามเจ้า หรือไฉน ควรเราท่านทั้งหลายจงได้พิเคราะห์ดู

ไม่ต้องสงสัยว่า หนังสือลิลิตเรื่อง พระลอ นั้น เป็นหนังสือที่แต่งขึ้นเพื่อรับใช้กษัตริย์ หรือพวกพ้องของกษัตริย์ หรือชนชั้นปกครองโดยเฉพาะ ในโคลงบทที่ 5 แห่งลิลิตเรื่องนี้ ได้ประกาศการรับใช้ไว้อย่างโจ่งแจ้งทีเดียว นั่นคือ

เกลากลอนกล่าวกลกานต์    กลกล่อม ใจนา
ถวาย *บำเรอ* ท้าวไท้            ธิราชผู้มีบุญ

“บำเรอ” แปลว่ารับใช้ ผู้แต่งได้แต่งเรื่องนี้ขึ้นเพื่อเป็นการกล่อมใจ (กล่อมอารมณ์) และให้รับใช้กษัตริย์ซึ่งเขาเห็นว่าเป็น ผู้มีบุญ

เขาไม่ได้แต่งขึ้นเพื่อกล่อมอารมณ์ประชาราษฎร์ ไม่ได้แต่งขึ้นเพื่อเป็นการรับใช้ราษฎร เพราะผู้แต่งเป็นกวีแห่งราชสำนัก ไม่ใช่ กวีแห่งประชาราษฎร!

มีผู้สันนิษฐานว่า ผู้แต่งเป็นคนนั้น คนนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ท่านผู้รู้หลักนักปราชญ์ หลายท่านได้ลงสันนิษฐานว่าผู้แต่งได้แต่งในขณะที่ ยังไม่ได้เป็น กษัตริย์ แล้วภายหลังได้ขึ้นเป็นกษัตริย์

ผู้ได้อ่านวรรณคดีไทยเก่าๆ สำนวนต่างๆ มาอย่างช่ำชองแล้ว ย่อมจะแลเห็นได้ว่า ผู้แต่งเรื่อง พระลอ นี้ ไม่ได้เป็นคนเดียว หากเป็นหลายคนช่วยกันแต่งในขณะเดียวกัน เช่นเดียวกับ ทวาทศมาส, ขุนช้างขุนแผน ฯลฯ

เป็นการประชุมข้าราชสำนักที่เป็นกวีแต่งไว้ เพื่อรับใช้กษัตริย์ กวีเหล่านั้นเป็นกวีที่เชี่ยวชาญ แต่ขาด อหังการแห่งกวี ปล่อยให้เขาเอาตัวลงตีเป็นราคาเงิน ศักดิ์ศรีของเขาเป็นที่เปล่งประกายอยู่ในราชสำนักก็จริงแล แต่ในหมู่บ้าน, ท้องนา, ในเรือกในสวน ศักดิ์ศรีของเขาเป็นที่แลมองดูอย่างสงสัย, สงสาร และสังเวช นับด้วยศตวรรษมาแล้ว

ลิลิตเรื่องนี้ ได้บอกไว้ชัดเจนว่า ผู้แต่งมีสองคน คือ พระมหาราชครู คนหนึ่ง และ เยาวราช เจ้าเชียงใหม่ อีกคนหนึ่ง ดั่งนี้

จบเสร็จมหาราชเจ้า นิพนธ์
ยอยศพระลอคน หนึ่งแท้
พี่เลี้ยงอาจเอาตน ตายก่อน พระนา
ในโลกนี้สุดแล้ เลิศล้ำคุงสวรรค์ … 659

จบเสร็จเยาวราชเจ้า บรรจง
กลอนกล่าวพระลอยง ยิ่งผู้
ใครฟังย่อมใหลหลง ฤๅอิ่ม ฟังนา
ดิเรกแรกรักชู้ เหิ่มแท้รักจริง … 660

คุณพุ่ม สตรีกวีแห่งราชสำนักอีกผู้หนึ่ง กล่าวไว้ว่า ในสมัยพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยานั้น

เกิดมหาราชครูผู้ฉลาด
ได้รองบาทบงกชบทศรี
แต่งพระลอนรรัตนหลงสัตรี
กับพระศรีสมุทรโฆษก็โปรดปราน

พระมหาราชครูเป็นคนในราชสำนักพระนารายณ์ พระเยาวราชก็ดุจกัน ทั้งเป็น Vassal ของพระนารายณ์ด้วย ก็จำต้องแต่งบำเรอพระนารายณ์เจ้านายของเขาเป็นธรรมดา คนทั้งสองเป็นศิลปิน ลิลิตเรื่องพระลอจึงเป็นศิลปะที่รับใช้กษัตริย์, บำเรอกษัตริย์, และใครฟังลิลิตเรื่องนี้ก็ย่อมจะ ใหลหลง ไปด้วยอำนาจแห่งศิลปะนั้น

ศิลปะของชนชั้นปกครองนี้ย่อมรับใช้สองอย่าง: บำเรอไปในด้านกามราคารมณ์ของชนชั้นปกครองอย่างเต็มกำลังอย่างหนึ่ง, มอมประชาชนให้มัวเมาอยู่ใต้บารมีของชนชั้นปกครองอีกอย่างหนึ่ง

ลิลิตพระลอ เป็นศิลปะของชนชั้นปกครอง คุณค่าของการรับใช้ทั้งสองประการนั้น จึงมีเต็มเปี่ยม

การบำเรอด้านกามราคารมณ์เห็นได้อย่างแจ่มชัด และนับเป็น ส่วนสำคัญ ของเรื่องก็ว่าได้ ภาพลามกอนาจารฉายฉึ่ง ตั้งแต่แรกเรื่องไปจนจบเรื่อง ผู้แต่งกล่าวถึงการหยาบคายไว้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ใคร่จะอยากอ้อมค้อมนัก

นี่อย่างไร

สองนางนำแขกขึ้น เรือนสวน
ปัดฟูกปูอาสนชวน ชื่นชู้
*สองสมพาสสองสรวล สองเสพ*
สองฤดีรสรู้ เล่หพร้อมเพรียงกัน … 421

เสร็จสองสมพาสแล้ว กลกาม
สองอ่อนสองโอนถาม ชื่อชู้ … 422

เป็นภาพแสดงถึงความหื่นกระหายในดำฤษณา ประกอบกรรมอันลามกพรวดลงไปโดยมิได้พะวงว่า “แกชื่อเรียงเสียงไร? มาแต่ไหน?” เพิ่งมาถามไถ่ชื่อเอาในเมื่อเสร็จกิจแล้ว, อนิจจา, กาพย์กลอนที่มีชื่อเสียงของสยาม!

ภาพบรรยายกิจอันลามกมีมิได้ขาดระยะ เป็นภาพที่พูดด้วยภาษาตรงไปตรงมาทีเดียว

เชิญดู:

ส่วนสามกษัตริย์แก่นท้าว กรโอบองค์โน้มน้าว
แนบเนื้อเรียมรมย์ … 516

กรเกี้ยวกรกอดเกื้อ เนื้อแนบเนื้อโอ่เนื้อ
อ่อนเนื้อเอาใจ … 518

นมแนบนมนิ่มน้อง ท้องแนบท้องโอ่ท้อง
อ่อนท้องทรวงสมร … 520

หรือ

สรงสระสวรรค์ไปเพี้ยง สระพระนุชเนื้อเกลี้ยง
อาบโอ้เอาใจ … 524

ตระการฝั่งสระแก้ว หมดเผ้าผงผ่องแผ้ว
โคกฟ้าฤๅปูน … 526

บุญมีมาจึ่งได้ ชมเต้าทองน้องไท้
พี่เอ้ยวานชม หนึ่งรา … 527

พรรณนาถึงภาพอันลามกเท่านั้นยังไม่พอ ยังพรรณนาถึงความ หน้าด้าน ที่ไม่มีสตรีใดจะทนให้ทำได้ แม้แต่หญิงนครโสเภณี

เชิญดู …… เชิญทีเดียว, ท่านทั้งหลาย !

พระเพื่อนสมสมรแล้ว ลอราชเชยชมแก้ว
แก่นไท้แพงทอง เล่านา … 528

ละบองบรรพหลากเหล้น บ่เหนื่อยบ่ได้เว้น
เหิ่มชู้สมสมร … 529

นี่คือ ภาพชายหนึ่ง หญิงสอง, เสร็จคนนั้น ไปคนนี้, ไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย กรรมอันหน้าด้านเช่นนี้ จะทำกันได้ก็แต่ในหมู่ชนชั้นปกครองที่เป็นพวกศักดินาและกระฎุมพีเท่านั้น !

การประกอบสังวาสกรรม ถือเป็นวีรกรรมของพวกกษัตริย์และพวกกระฎุมพี ทำกันอย่างมุดุเดือดรุนแรง ทะลึ่งตึงตัง และไม่ปราณีปราศรัย แล้วแต่แรงราคดำฤษณาจะพาไป ไร้ความรักอันแท้จริงและหยาบช้า !

เชิญดู ท่านทั้งหลาย, เชิญดู ……

ดุจอัสดรหื่นห้า แรงเร่งเริงฤทธิกล้า
เร่งเร้งฤๅเยาว์ … 530

ดุจสารเมามันบ้า งาไล่แทงงวงคว้า
อยู่คลุกเคล้าเอา … 531

และเมื่อสตรีทนไม่ไหว ก็ว่า :

ประเล้าโลมอ่อนไท้ แก้วพี่เอยเรียมได้
ยากด้วยเยาวมาลย์

เอ็นดูวาน*อย่าพร้อง* เชิญพระนุชนิ่มน้อง
อดพี่ไว้เอาบุญ ก่อนเทอญ

หน็อยแน่, อย่าร้อง – ให้ทนเอา !

ฝ่ายข้างหญิงหน้าด้านก็กล่าวเฉลยว่า อพิโธ่ ก็ เผือข้าไป่เดียงสา สักหยาด พระเอย ……. 534 (3) และขอให้ พระเอ็นดูนุชรา ท่านไท้ …… 534 (2) กับอุตส่าห์ขอบอกขอบใจนักหนา ว่า พระคุณพระพี่พ้น คณนา …… 534 (1) ทั้งขอให้ พระค่อยถนอมน้องไว้ เพื่อนท้าวใจบุญ …… 534 (4) เสียอีกด้วย

แต่ข้างชายจะฟังก็หาไม่ กลับ

บมลายสมรเร่งเร้ง ฤทธิ์รงค์ [จน]
สองอ่อนระทวยองค์ ละห้อย … 536

แล้วก็

สะเทือนฟ้าฟื้นลั่น สรวงสวรรค์
พื้นแผ่นดินแดยัน หย่อนไสร้
สาครคลื่นอึงอรร- ณพเฟื่อง ฟองนา
แลทั่วทิศไม้ไหล้ โยกเยื้องอัศจรรย์ … 537

ไปจน

บคลาไคลน้อยหนึ่ง ฤๅหยุด อยู่นา
ยังใคร่ปองประติยุทธ *ไป่ม้วย*

แต่ทะว่า, น่าเสียดายที่

ปราณีดอกบัวบุช บชื่น ชมนา
หุบอยู่บบานด้วย ดอกสร้อยสัตตบรรณ … 540

นี่แหละ ความงามในวรรณศิลปของศักดินา ซึ่งพวกกระฎุมพีในสมัยนี้รับเอา ! นี่แหละสิ่งละเอียดอ่อนอันหยาบคาย ! นี่แหละศิลปของพวกปฏิกิริยาทั้งหลาย !

ความจริง ศิลปะ เป็นอย่างหนึ่ง อนาจาร เป็นอีกอย่างหนึ่ง ห่างไกลกันลิบลับ  อย่างหนึ่ง ดีงาม, ล้ำเลิศ, สูงส่ง  อีกอย่างหนึ่ง เลวทราม, ตกต่ำ, ลามก, หยาบช้า, น่าขายหน้า ศิลปะมีคุณลักษณะประการแรก อนาจารมีลักษณะประการหลัง  ดังนี้ ของสองสิ่งนี้จะเหมือนกันได้อย่างไร !  พวกที่พยายามพูดว่า ศิลปะกับอนาจารแยกกันไม่ออกนั้น ถ้าไม่แกล้งพูดเพื่อจะอ้างเอาชื่อ ศิลปะ อันศักดิ์สิทธิ์รุ่งโรจน์มาปะหน้า งานอันลามกอนาจาร ของตน เพื่อปลอมมอมประชาชน กดขี่ประชาชนแลขายเกียรติศักดิ์แห่งกวีของตน ให้แก่เจ้าข้าวแดงแกงร้อนของตนอย่างถูกๆแล้ว ก็ย่อมจะพูดไปด้วยการ มองสิ่งทั้งหลายออกไปจากคุณลักษณะของตน เมื่อตนเป็นคนหยาบช้าก็ย่อมจะต้องมองของหยาบช้าเป็นของดี เป็นของที่ตนพอใจ. ตรงกันข้าม ผู้มีคุณธรรมและนิสสัยสันดานอันสุขุมละเอียดอ่อนงดงาม ก็ย่อมจะมองสิ่งงดงามเป็นสิ่งงดงาม และมองสิ่งหยาบคายเป็นสิ่งหยาบคายอยู่เช่นนั้น หาอาจมองสิ่งหยาบคายให้เป็นสิ่งงดงามไปได้ไม่

ในส่วนไทยเรา ต้องรู้จักความดีงามกันอยู่ทั่วไปแล้ว เราแยกความดีออกจากความงามไม่ได้ เราพูดคำ ดีงาม ปนกันไป นี้เป็นลักษณะอันเด่นในทางละเอียดอ่อนของชาติไทย ที่เป็นชาติของนักกลอนและผู้รักศิลปะทั้งหลาย เช่นเดียวกับชาวกรีกซึ่งเป็นยอดของผู้รักศิลปะ คำ Kalos ของเขา มีความหมายถึง ความดี และถึง ความงาม ด้วย เมื่อเขาพูดถึงความงามก็ย่อมหมายถึงความดี ฉะนั้น อะไรที่ งาม จึงต้องเป็นของ ดี ด้วย ของที่หยาบคาย ลามก ไม่ดี ก็ไม่ใช่สิ่งที่งาม และเมื่อไม่งามก็ไม่เป็นศิลปะ

แต่เราจะต้องระลึกอยู่ว่า คุณลักษณะของชาติทั้งสองดังกล่าวนี้ เป็นคุณลักษณะของ ชาติ คือ ประชาชนส่วนใหญ่ เมื่อชาตินั้นๆ แบ่งชาวชาติออกเป็นคนชั้นนั้นชั้นนี้ ต่างฐานะกัน ชั้นชนส่วนน้อยที่ฉวยเอาประโยชน์จากชั้นชนส่วนใหญ่ ดำเนินการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ ก็กอบโกยความสุขสบายใส่ตนสุดแต่จะหาได้ เมื่อเขาขาดมนุษยธรรมเสียเช่นนี้แล้ว เขาก็ย่อมไร้ความละอายขายหน้า เขาย่อมฝักใฝ่แต่จะบำรุงความสุขที่เห็นๆให้แก่ตัวแลสมัครพรรคพวกอย่างไม่คำนึงถึงอะไรทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้การใฝ่ความสุขก็หวนลงสู่สภาพแห่งสัตว์ทุกที เพราะสัตว์มีความตะกละ, กระหาย, มักมาก, หยาบช้า คนต่างกับสัตว์ก็ที่ได้สร้างวัฒนธรรมแห่งตนให้ประณีตสุขุมละเอียดอ่อนขึ้นทีละขึ้นๆ จนทรงความเป็นมนุษย์ขึ้นมา และถือตัวว่าสูงกว่าสัตว์ แต่เมื่อตนมีกิเลสเศร้าหมองเพราะขาดศีลธรรม จรรยาสมบัติและมนุษยธรรม กดขี่คนอื่นได้ นิสสัยสัตว์ก็เข้ามา เพราะการข่มเหงกดขี่ ไร้ความเวทนา นั้นเป็นนิสสัยอันต่ำของสัตว์อยู่แล้ว และในนิสสัยสัตว์ชั้นต่ำนี้ ความใคร่และกามตัณหาเป็นขึ้นหน้า ฉะนั้นชนชั้นปกครอง ซึ่งเป็นชนชั้นส่วนน้อยจึงแก่กล้าไปด้วยราคะตัณหา ดังนี้คุณลักษณะของชาวชาติอันดีที่ถือ ความงาม กับ ความดี ว่าเท่ากันก็คลายไป ชนชั้นปกครองจึงสร้างหรือให้สร้างสิ่งที่ประกอบด้วยศิลปะขึ้น แต่ปะปนไปด้วยสิ่งลามกอนาจาร เพื่อให้สมประสงค์แห่งความอยากเยี่ยงสัตว์ของตน ฉะนั้นเราจึงเห็นรูปปั้นเปลือยเพื่อประโยชน์เช่นนั้นของชนชั้นปกครองไทย และรูปเปลือย ภาพเปลือยเหล่านี้ มักมีประดับในรั้วในวัง ในบ้านผู้ลากมากดีมีเงินทอง มีศักดิ์เป็นขุนน้ำขุนนาง สามัญชนไม่มีภาพเหล่านี้ เพราะสามัญชนไม่ต้องการ เขายังถือว่า ความงาม ต้องมี ความดี อยู่ ยังถือว่าศิลปะต้องประกอบด้วยคุณค่าอันสูงส่ง ไม่ใช่ประกอบด้วยนิสสัยสันดานสัตว์อันลามกอนาจารนั้นอยู่ ที่สำคัญก็คือในสังคมทาส, สังคมศักดินา, สังคมกระฎุมพีเหล่านี้นั้น เครื่องมือในการผลิตตกอยู่ในมือของชนชั้นปกครองที่มีกามราคะหนาแน่น สามัญชนไม่สามารถผลิตงานศิลปอันเป็นสมบัติของตนเองขึ้นไว้ได้ นอกจากจะถูกใช้ให้ผลิตเป็นสมบัติของชนชั้นปกครอง และในระยะนี้ ศิลปินผู้ทรงเกียรติซึ่งส่วนมากเป็นสามัญชน ก็ถูกชนชั้นปกครองเอามาตีเป็นราคาเงิน!

ตอนนี้มีผู้พูดกันว่า ศิลปย่อมสร้างขึ้นจากอารมณ์อันหวั่นไหวของศิลปิน ข้อนี้ก็ถูก แต่เราก็ควรจะต้องรู้ว่า อารมณ์หวั่นไหวนั้นเป็นธรรมชาติของ สชีวสัตว์ ทั้งปวง ซึ่งอาจจำแนกได้เป็น สชีวสัตว์ชั้นต่ำ กับ สชีวสัตว์ชั้นสูง (คือ มนุษย์) สัตว์ทั้งปวงมีอารมณ์หวั่นไหวเหมือนกัน เพราะอารมณ์หวั่นไหวนั้นเป็นธรรมชาติดังกล่าวแล้ว แต่ว่าแต่ละชั้นของสัตว์เหล่านั้นมีความรู้สึกอันประณีตผิดกัน บางสัตว์ก็มีความรู้สึกยังตกต่ำอยู่ บางสัตว์ก็มีความรู้สึกสูงกว่านั้น มนุษย์เราจัดว่าเป็นสัตว์ที่มีความรู้สึกอันประณีตสูงสุด และยิ่งจะสูงสุดขึ้นทุกๆทีด้วยการเสาะแสวงของมนุษย์ ขั้นที่สุดของความรู้สึกอันประณีตสูงสุดนั้น คือ ความหลุดรอดจากพันธะทั้งปวง อารมณ์หวั่นไหวเป็นความรู้สึกอย่างหนึ่ง ฉะนั้นจึงย่อมมีหนามีบาง มีต่ำมีสูง มีประณีตไม่ประณีต ผู้มีวัฒนธรรมสูงย่อมมีความรู้สึกสูง และมีอารมณ์อันประณีตกว่าผู้มีวัฒนธรรมต่ำ อารมณ์ของศิลปินเป็นอารมณ์ประณีตมาก ฉะนั้น จึงย่อมเป็นอารมณ์หวั่นไหวที่บริสุทธิ์ แต่ผลประโยชน์และความมัวเมาทั้งหลายชักให้วัฒนธรรมของมนุษย์ตกต่ำไปได้ ฉะนั้น บางครั้งอารมณ์หวั่นไหวของศิลปินก็หย่อนความประณีต กลายสภาพเป็นอารมณ์หวั่นไหวขั้นต่ำทราม ไม่ผิดกับสัตว์สามัญซึ่งอารมณ์เช่นนี้เป็นอารมณ์หวั่นไหวของชนชั้นศักดินา แลกระฎุมพีผู้มัวเมาอยู่ในผลประโยชน์และความเห็นแก่ตัวแสวงความสุขในกามตัณหาราคะอย่างต่ำทรามเยี่ยงสัตว์ อารมณ์หวั่นไหวอันขาดความประณีตของศิลปินบางคน เป็นสิ่งต้องประสงค์ของชนชั้นศักดินา และกระฎุมพี เขาจึงดึงเอาศิลปินนั้นมาสร้างศิลปะขึ้น ศิลปกรรมของศิลปินผู้มีอารมณ์หวั่นไหวอันไม่ประณีตสูงส่งนั้น ก็เป็นศิลปกรรมที่ส่อแสดงสภาพของสัตว์ขั้นต่ำ คือเป็นไปทางราคดำฤษณา ที่เราถือกันว่าเป็นลามกอนาจาร ความต้องการของสรรพสัตว์ในอันจะผะสมพืชพันธุ์ซึ่งก่อกำเนิดขึ้่นด้วยความรักใคร่นั้น เป็นธรรมชาติ ซึ่งสัตว์ทั้งปวงตกเป็นทาสธรรมชาตินี้อยู่ ศรีสิทธารถ พยายามเอาชะนะธรรมชาติอันนี้จึงได้ติเตียนการประกอบกิจนั้น มนุษย์ธรรมดาสามัญไม่อาจเอาชะนะธรรมชาติได้ถึงขั้นนั้น แต่ก็พยายามอยู่ จึงเกิดความประณีตขึ้น โดยอาศัยความละอายแก่ใจเป็นเครื่องส่งเสริม อย่าว่าแต่มนุษย์เลย แม้สัตว์บางจำพวกก็มีความประณีตเช่นนั้นเพื่อดิ้นรนไปให้ถึงความหลุดรอดจากพันธะ หรือเพื่อเอาชะนะธรรมชาตินั่นเอง เหตุนี้เราจึงเห็นว่า แม้แต่งูก็โกรธในเมื่อใครไปเป็นมันสัดกัน สัตว์ชั้นสูงที่มีความรู้สึกประณีตเช่นช้าง ก็ป้องปิดการประกอบกิจตามธรรมชาติซึ่งยังเอาชะนะไม่ได้นี้อยู่ แต่สัตว์ชั้นต่ำบางพวก เช่น เป็ด, หมา ฯลฯ หาได้ป้องปิดไม่ เพราะความรู้สึกยังไม่ประณีตพอที่จะแสวงทางหลุดรอดเช่นนั้น มนุษย์เรามีความรู้สึกประณีตสูงสุดดังกล่าวแล้ว จึงปิดบังหรือพยายามหลักเสียจากอารมณ์หวั่นไหวอันไม่ประณีต ทำอารมณ์หวั่นไหวให้ประณีตขึ้นทุกทีๆ ด้วยเหตุฉะนี้ ศิลปินที่บริสุทธิ์จึงมีความรู้สึกสูง มีอารมณ์หวั่นไหวอันประณีต ศิลปกรรมของเขาจึงเป็นศิลปกรรมที่บริสุทธิ์แท้ ปราศจากมลทินของความลามกอนาจาร อันเกิดแต่อารมณ์หวั่นไหวอันไม่ประณีตนั้น

กล่าวโดยสรุป เมื่อเราพูดถึงอะไร เราก็ควรมองให้ทะลุในสิ่งนั้น เมื่อเราพูดถึงอารมณ์หวั่นไหว เราก็ควรแยกให้ได้ว่า อารมณ์หวั่นไหวอย่าง ประณีต หรือ ไม่ประณีต? อารมณ์หวั่นไหว ของประประชาชน หรือ ของผู้กดขี่ประชาชน (คือพวกศักดินา, กระฎุมพี ฯลฯ)? เช่นเดียวกันเมื่อพูดถึงวรรณกรรมทางการเมือง เราก็ต้องแยกว่า การเมืองของใคร? ถ้าเป็นการเมืองของประชาชนก็ย่อมจะเป็นไปในแนวสร้างสรรค์ความเสมอภาค, ความบริสุทธิ์สะอาด, และความเป็นบรมสุข ความหลุดรอดจากพันธะทั้งปวงเป็นที่สุด แต่ถ้าเป็นการเมืองของชนชั้นปกครองที่กดขี่ ก็ย่อมจะเป็นไปในแนวข่มเหง, มัวเมา, กดขี่, ความเห็นแก่ตัว, ลามก การสร้างความหื่นตัณหาบนความทุกข์ยากของปวงชน สร้างอัพโภกาส (chaos) ขึ้นในสังคมมนุษย์เป็นที่สุด เมื่อเข้าใจปัญหาเหล่านี้แล้ว ก็จะแจ่มกระจ่างในปัญหาความลามกอนาจารของศิลปกรรม

รูปลามกนั้น จะมีแต่ในรั้วในวัง หรือในบ้านขุนน้ำขุนนางเท่านั้นก็หาไม่ ยังลุกลามไปมีอยู่ในวัด หรือในสถานที่บูชาทางศาสนาอีกด้วย ทั้งนี้เพราะในยุคนั้นๆ ศาสนาซึ่งเป็นของศักดิ์สิทธิ์และสูงส่ง เช่นเดียวกับหรือยิ่งกว่าศิลปะ ก็ได้พลอยตกเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองไปด้วย ศาสนาเป็นเครื่องมือบำราบประชาชน, มอมประชาชน, ชักประชาชนให้หลงผิด ให้มึนเมาไม่คิดปลดเปลื้องตนจากแอกของชนชั้นปกครองเหล่านั้น ชนชั้นปกครองเหล่านี้ได้ย้อมปลอมแปลงศาสนาเสียจนกะทั่งว่า ถ้าไครสต์ก็ดี, นบีมูฮัมมัดก็ดี, ศรี สิทธารถก็ดี มาเกิดใหม่ ก็ย่อมจะต้องร้องอุทานว่า นี่ศาสนาอะไรในนามของอาตมาหนอ?  เมื่อศาสนาเป็นเครื่องมือสำหรับเบื่อเมา และข่มขู่ประชาชนแล้ว ชนชั้นปกครองก็ได้เร่งมือเอาศิลปะที่ตนซื้อมา ผะสมระคนลงในศาสนา เพื่อให้ฤทธิ์เดชของ ยาเบื่อเมา ประชาชนขนานนี้ออกฤทธิ์แรงยิ่งขึ้น ซึ่งก็ได้รับความสำเร็จมานับด้วยพันๆปีแล้ว ดังนี้ ภาพอันควรยกย่องบูชาในทางศาสนา และมิหนำซ้ำสร้างขึ้นด้วยมือของศิลปินอันล้ำเลิศ ที่ควรสูงส่งอย่างยิ่ง จึงกลายเป็นภาพเปลือย, ภาพคนแก้ผ้า, ภาพคู่สังวาส ฯลฯ  อันเป็นภาพลามกอย่างน่าอนาถนี่กะไร ! วัดซึ่งควรเป็นที่สถิตของคุณธรรมอันล้ำเลิศ กลับเป็นที่สิงสู่ของ ปวงปีศาจแห่งการอนาจาร ไปได้ อนิจจา, ชนชั้นปกครองได้ทำลายทุกๆอย่าง กะทั่งศิลปะซึ่งเป็นของสูงส่ง! กะทั่งศาสนาซึ่งเป็นที่ควรเคารพกราบไหว้!

สมัยของ ลิลิตพระลอ เป็นสมัยศักดินา และโดยที่วรรณคดีเรื่องนี้เป็นวรรณคดีที่รับใช้ชนชั้นปกครองซึ่งเป็นศักดินา ทรรศนะต่างๆจึงพลอยผิดไปจากทรรศนะของประชาชนหมด เช่นความงามของบุรุษ แทนที่จะเป็นความงามสง่าสมลักษณะชาย กลับกลายเป็นความงามอย่างกล้องแกล้ง, อย่างนักเลงฝิ่นกันชา แลนักเลงผู้หญิง หาคุณค่ามิได้ ขอเชิญดูความงามของตัวพระเอก คือพระลอในเรื่องนี้

พระองค์กลมกล้องแกล้ง         เอวอ่อนอรอันแถ้ง
ถ้วนแห่งเจ้ากูงาม บารนี           … 12
เดือนจรัสโพยมแจ่มฟ้า            ผิบได้เห็นหน้า
ลอราชได้ดูเดือน ดุจแล             … 15
ตาเหมือนตามฤคมาศ พิศคิ้วพระลอราช
ประดุจแก้วเกาทัณฑ์ ก่งนา      … 16
พิศกรรณงามเพริศแพร้ว          กลกลีบบงกชแก้ว
อีกแก้มปรางทอง เทียบนา      … 17
ทำนองนาสิกไท้                       คือเทพนฤมิตไว้
เปรียบด้วยขอกาม                   … 18
พระโอษฐงามยิ่งแต้ม              ศศิอยู่เยียวยะแย้ม
พระโอษฐโอ้งามตรู บารนี        … 19

ภาพความงามเช่นนี้ ไม่มีใครที่เลี้ยงชีพด้วยเหงื่อ, เลือด, และน้ำตา ของตน ปรารถนา; แต่เป็นที่ปรารถนาของหมู่ชนที่เลี้ยงชีพด้วยเหงื่อ, เลือด และน้ำตา ของผู้อื่น ถ้าเราไปตามสโมสรของพวกผู้ดีมีเงินสมัยนี้ เราก็จะเห็นภาพผู้ชายอย่างพระลอ ดิลกเลิศฟ้า เต็มไปทั้งนั้น เวลานี้ก็มีร้านรับจ้างดัดผม ให้แก่ ท่านสุภาพบุรุษชั้นสูง อยู่แล้ว

พวกศักดินาย่อมพอใจในการรบพุ่ง ชิงดินแดน เอาเมืองอื่นมาเป็นเมืองออก เอาคนมาเป็นข้า พ่อของพระลอก็ไม่พ้นกิเลสนี้ไปได้ ได้เกณฑ์ผู้คนพลเมืองไปล้มตายในสงครามชิงดินแดน เพื่อความละโมภเยี่ยงโจรของตัวอย่างไม่รอข้อ ด้วยเหตุผลอย่างง่ายๆ

ดูซิ, ท่านทั้งหลาย …. ….

เมื่อนั้นไท้แมนสรวง พญาหลวงให้หา หัวเมืองมาริปอง ว่าเมืองสรองกษัตริย์กล้า *อย่าช้าเราจะรบ ชิงพิภพเป็นเมืองออก*…

เมื่อใดธาตุของศักดินาไม่หมดไป เมื่อนั้นสังคมมนุษย์ย่อมไม่ประสพความผาสุก สิ้นพวกศักดินาแล้ว ถ้าพวกกระฎุมพีขึ้นแทนตำแหน่งชนชั้นปกครอง พวกนี้ก็จะดำเนินการปกครองแทนที่ด้วยนโยบายเดิม และกรุงสยามปัจุบันนี้ ก็เป็นประเทศกึ่งศักดินาอยู่!

จึงไม่เป็นปัญหาที่ชนชั้นปกครองจะช่วยกันยกย่องสมบัติของเขา และเครื่องมือของเขา และจึงไม่เป็นปัญหาที่เขาจะยกย่องหนังสือเรื่อง ลิลิตพระลอ เรื่องนี้

แต่ประชาสามัญชนไม่ต้องการธาตุของพวกศักดินาในหนังสือเล่มนี้ เพราะเป็นสิ่งเบื่อเมาเขาและไม่เป็นประโยชน์ต่อเขา เขาจะรับเอาได้ก็แต่เพียง ธาตุของศิลปินอันคัดเลือกแล้ว ในหนังสือนี้เท่านั้น นั่นคือ ลีลา และ แบบคำประพันธ์ อันมีคุณค่าบางอย่าง โวหารและเนื้อหาบางอย่างส่วนน้อยที่มีประปรายอยู่ใน ลิลิตพระลอ ซึ่งเป็นงานของศิลปินแห่งราชสำนักพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยา

2 thoughts on “ไม่เอาศักดินาอนาจาร

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s