คลื่นเหียน

นิติพงศ์ สำราญคง เขียน
Summer Panadd วาด

คัดจากรวมเรื่องสั้น ขอศาลได้พิจารณาพิพากษาลงโทษตามกฎหมา (สำนักพิมพ์ตำหนัก, 2561) หน้า 29-45

[To read “Nausea” in English translation with an introduction, click here.]


“ที่เขียนลงคำนำน่ะ เรื่องจริงใช่มั้ย” (คำถามอะไรแบบนี้)

“เออดิ จะโม้เพื่ออะไรวะ”

หลังสดับคำตอบ เพื่อนก้มหน้าสำรวจเนื้อหาหนังสือนิยายเล่มบาง

“ยังไม่ได้เซ็นให้มึงเลย มะ เอาคืนมาก่อน…”

“เฮ้ย มิต้อง มิต้อง” เพื่อนกอดหนังสือแน่น มิทันตนจะเอ่ยว่าอย่าเกรงใจเลย เราตั้งใจเซ็นมอบให้นายผู้เป็นเกลอรักกับมือ เพื่อนกลับหล่นคำตามอย่างหักหาญน้ำใจ

“เซ็นชื่อแล้วกลัวราคาตก เผื่ออ่านจบไม่อยากเก็บรกเรือน กูจะได้ประกาศขายต่อ” (คำตอบอะไรแบบนี้)

“ไอ้ห่า เดี๋ยวยันเปรี้ยง…”

เพื่อนหัวเราะร่วน ไม่รอช้า อาศัยจังหวะมันเผอเรอ ตนเขยิบประชิด ดึงหนังสือจากมือ รี่จรดคมปากกา สลักชื่อนามสกุลลงหน้าแรกหนังสือ

“พ่อง….” แลเห็นอักขระยึกยือ เพื่อนหล่นคำอุทาน “สาบานให้ตกน้ำป๋อมแป๋มนะว่ามึงตั้งใจเซ็นแล้ว” กล่าวจบ ชะรอยเกรงตนขัดเคือง ไม่ก็กลัวถูกริบหนังสือ เพื่อนแสร้งคร่ำเคร่งกับตัวบท

ตอนนี้ ตนจะปล่อยเพื่อนซาบซึ้งรสวรรณกรรมไปพลาง หนังสือนิยายหนาไม่ถึงห้าสิบหน้า[1] ชั่วซดกาแฟหมดแก้วคงใกล้บรรทัดสุดท้าย ถึงตอนนั้น เพื่อนอาจละสายตาจากสระอักษรเรียงราย ด้วยเหลือกล้ำกลืนอีกต่อไป หรือตรงข้าม เพื่อนไม่สามารถถ่ายถอนตัว ตกจมในวงกตวรรณกรรม หวนอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งมีความเป็นไปได้พอกันทั้งสองทาง

[1] เป็นที่ถกเถียงในแวดวงวรรณกรรมว่านิยายควรมีจำนวนหน้าสักเท่าใด หนังสือที่หนาเพียงห้าสิบหน้า สมควรเรียกว่านิยายขนาดสั้น หรือเรื่องสั้นขนาดยาวกันแน่ ผู้สันทัดกรณีคาดว่าในแวดวงคงถกเถียงกันต่อไปอีกเนนานไม่จบสิ้น

‘กาลครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าถูกทหารคร่ากุมขึ้นรถตู้ติดกระจกทึบสีดำ ข้าพเจ้านึกวาดฉากอวสานเลวร้ายนานัปการ ด้วยหวังระงับอาการกระวนกระวาย ไม่ปรารถนาให้คนเหล่านั้นเห็นอาการหวาดกลัว ข้าพเจ้าจึงแต่งบทกวีขึ้นในหัว ประสมคำทีละคำจบเป็นวรรคจบเป็นบท

ข้าพเจ้ายิ้มเริงร่าเมื่อพบถ้อยคำที่ลงตัว สัมผัสกับบาทก่อนหน้า ข้าพเจ้าใบหน้าระรื่นดั่งปลาระริกระรี้คราพบบึงน้ำใหม่ ทหารเขาเหล่านั้นอาจประหลาดใจอยู่บ้าง แน่ล่ะซี พวกเขาต้องการขู่ให้หงอกลัว กลัวนะเว้ย ไม่ใช่ไม่กลัว แต่เฮ้ย ข้าพเจ้าแต่งบทกวีสำเร็จชิ้นหนึ่งแล้วนะ ข้าพเจ้าต้องยิ้มฉลองแก่ตัวเองสิเว้ย ประการฉะนี้เอง ข้าพเจ้าจึงหัวเราะเอิ๊กอ๊ากสนั่นรถตู้เสียกราวใหญ่ ไม่ไยไพสายตาหลายคู่ที่หันขวับมาจับจ้อง

ต่อให้ไม่รู้จุดหมายปลายทาง ข้าพเจ้าก็ยังมีแก่ใจแต่งบทกวีขึ้นมาจนได้สิน่า ทั้งหมดดังกล่าวมานี้ เป็นตัวอย่างของอำนาจวรรณกรรม เพราะต่อให้เราถูกลิดรอนเสรีภาพ ก็หามีใครไม่ ที่อาจสามารถจำกัดความคิดของเราไว้ในครอบกรงขัง’[2]

[2] คํานําผู้เขียนจากนิยาย ดั่งองคาพยพร้างเรือนไข้” โดยวายุ จารุรัศมิ์, สํานักพิมพ์เฟเบอร์แอนด์ เพนกวิน, ซานฟรานซิสโก, ค.ศ. 2018

ในแฟ้มประวัติการรักษา ระบุเมารถเป็นโรคประจำตัวคุณ ทีแรกเจ้าหน้าที่เวชระเบียนอิดเอื้อนกรอกข้อมูลดังกล่าว ด้วยเหตุที่เมารถเป็นเพียงอาการทั่วไป หาใช่กลุ่มโรคจำพวกเบาหวาน หัวใจ ความดัน ทว่าคุณดึงดันจนเจ้าหน้าที่คล้อยยอม จัดการให้อย่างเสียไม่ได้[3]

[3] พจนานุกรมพจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของอาการกับโรค ดังนี้ อาการ : น. ความเป็นอยู่ ความเป็นไป สภาพ เช่น อาการไข้ กิริยาท่าทาง เช่น อาการพิรุธ โรค : น. ภาวะที่ร่างกายทำงานได้ไม่เป็นปรกติเนื่องจากเชื้อโรคเป็นต้น

มูลเหตุสำคัญซึ่งคุณต้องการให้ระบุอาการเมารถลงฐานข้อมูล เพราะมีประโยชน์ต่อการศึกษาเรื่องระบาดวิทยาในอนาคต ประชากรโลกกว่าเจ็ดพันล้านคน ลำพังคุณเท่านั้นหรือประสบภาวะเจ็บป่วยดังกล่าว คุณเชื่อมั่นว่ามีผู้คนจำนวนมากถูกอาการวิงเวียนศีรษะรุมเร้า เพียงปราศจากสถิติยืนยันที่แน่ชัด

อันที่จริง เรียกเมารถใช่จะครบกระทงความเสียทีเดียว เพราะนอกจากรถราแล้ว คุณยังแพ้ยวดยานทุกชนิด เกวียน สัตว์ต่างจำพวก ช้าง ม้า โค อูฐ รถไฟ เรือแพ เครื่องร่อน เครื่องบิน เว้นก็แต่จรวดกับกระสวยอวกาศซึ่งยังไม่สบโอกาสโดยสาร หากก็มีแนวโน้มว่าหนีอาการเมาไม่พ้นเป็นแน่

คุณพกยาแก้เมารถไม่ห่างตัว สำหรับหยิบฉวยสะดวกมือ คราหนึ่งยาหมดแผง โดยสารรถยนต์ออกตัวระยะยี่สิบเมตร คุณหน้าตาซีดเซียว ความดันต่ำตก มิตรสหายได้ทีกระหน่ำ ทำนองความรู้ท่วมหัวพาตัวไม่รอด ทำงานกับหยูกยา เสียดายปลาเกยน้ำตื้น ขายหน้าชะมัดยาด บางคราเดินเหินบนฟุตบาท พาหยานแล่นขวักไขว่บนถนนรนแคม กระทบสายตาเพียงนี้เองคุณให้รู้สึกคลื่นไส้วิงเวียน โดยมิต้องพาตัวขึ้นโดยสารแต่อย่างใด

ยามอาการเมารถจู่จับ คุณมีแต่นอนซมท่าเดียว เสียการเสียงาน สูญเปลืองหนึ่งวันโดยใช่เหตุ มิตรสหายและเพื่อนร่วมงานแสดงความห่วงใย เกรงอาการสามัญธรรมดา ขยายเป็นโรคร้ายลุกลามภายหลัง คุณกล่าวทีเล่นทีจริง – สสารไม่สูญสลาย เราไม่เห็นเพราะมันเปลี่ยนสถานะ องค์ประกอบเคมีดุจเดิม เปลี่ยนแปรเฉพาะรูปฟอร์ม อาการเมารถเป็นสสารชนิดหนึ่ง การกลายรูปของมวลธาตุ จึงไม่พ้นสสารอาเจียนเขละเละพุ่งออกจากปากนั่นแหละ

ปทานุกรมศัพท์แพทย์อังกฤษ-ไทย ไม่มีคำว่า carsick มีก็แต่ motion sickness ซึ่งรวมอาการเมาวิงเวียนที่เกิดจากทุกพาหนะเคลื่อนไหวเข้าเป็นหมวดหมู่เดียวกัน

อาการเมารถตลอดจนพาหยานอื่น เกิดจากระบบการทรงตัวปรับตัวไม่ทันท่าทางร่างกายและศีรษะซึ่งเคลื่อนไหว ขณะนั่งรถลงเรือ ตัวเราคล้ายถูกตรึงกับที่นั่ง หากความเป็นจริงมิได้หยุดนิ่ง แท้คืบเคลื่อนในจังหวะเดียวกับการเลื่อนไหลของพาหนะ

การทำงานของระบบทรงตัว เริ่มจากสายตาและหูชั้นในรับรู้การเคลื่อนไหว ก่อนส่งสัญญาณข้อมูลสู่สมองส่วนซีรีเบลลัม ตำราว่าความเคยชิน สามารถทุเลาอาการจนผ่อนคลายหายขาด นึกถึงครั้งอาจารย์เอ่ยสอนในชั้นเรียน คุณยกมือโต้เถียง นั่งรถราแต่เล็กแต่น้อย ร่างกายสมควรปรับตัวคุ้นชิน ที่ไหนได้ นานวันอาการยิ่งทรุดย่ำแย่ ระบบการทรงตัวของคุณเสียสมดุล แปลกแยกจากภาพที่ตาแลเห็น กระทั่งสมองแปรสัญญาณผิดถูก กำเนิดอาการเมารถชนิดแก้ไขไม่ตก รักษาไม่ขาดหาย เป็นแผลตกสะเก็ด รอผลิดอกงอกรากในโมงยามเดินทางสัญจร

Q : คุณบอกว่าขณะที่นั่งรถทหาร คุณยังมีแก่ใจเขียนบทกวีในใจ ซึ่งผมเชื่อว่าในช่วงวัยหนึ่ง มันมีสภาวะนั้นอยู่ทุกคน คือเผชิญภาวะวิกฤติ แต่ตัวเองดันนึกอยากด้นความในใจกับตัวเองอย่างสละสลวย

A : ผมเป็นคนเมารถง่ายดาย เมารถเป็นปกติ หวาดกลัวการนั่งรถอย่างยิ่ง วันที่ทหารคุมตัวขึ้นรถ ผมกลัวเมารถมากที่สุด เดินตามเขาขึ้นรถโดยลืมกินยาแก้เมา ในใจก็กังวล เย็นนี้ใครจะรับลูก ไหนจะการงานอีก ใครจะทำแทน ห่วงกังวลเยอะแยะไปหมด ตอนนั่งรถพยายามไม่คิดอะไร เครียดเดี๋ยวอาการเมารถจะถามหา วันนั้นเขาพาวนเวียนนานมาก หลายชั่วโมง เรานั่งรถโดยอาการเมารถไม่โผล่มา แปลกดีเหมือนกัน นั่งจนไม่รู้ทำอะไร เบื่อด้วย ต้องหาอะไรทำแก้เบื่อ ผมทวนรายชื่อนักฟุตบอลที่รู้จักจนหมดก็ยังไม่ถึงที่หมาย เลยด้นบทกวีในใจ สะเปะสะปะไปเรื่อย นึกถึงนักศึกษากลุ่มดาวดินที่ถูกทหารจับเพราะเรียกร้องประชาธิปไตยขึ้นได้ จึงแต่งบทกวีเป็นกำลังใจแก่พวกเขา หลังถูกปล่อยตัวผมพยายามฟื้นความทรงจำ นำมาขีดเขียนลงกระดาษ แก้เกลามาเรื่อย ก่อนจะเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก ตอนถูกคุมตัวในรถก็พากเพียรประสมออกมาทีละคำทีละบท ยิ้มให้ตัวเองเมื่อพบคำถูกใจ ทหารคงฉงนใจค่าที่ไอ้นี่โดนจับกุมยังยิ้มเผล่อยู่ได้ สรุปที่มาของบทกวีคือเราเบื่อ กังวล ความกลัวก็มีส่วน อยากทำอะไรสักอย่างเพื่อหลีกหนีจากสภาวะนั้น

สำหรับบทกวีชิ้นดังกล่าว ความภายหลังปรับแก้เป็นดังนี้ครับ

จากดินธาตุพื้นฐานสามัญ
แรงมือปั้นมวลสารกำเนิดก่อ
มือแห่งงาน นิ้วกร้านเส้นเอ็นข้อ

ค่อยปะติดปะต่อขึ้นรูปทรง
ดาวย่อมดินธาตุพ่อแม่

แต่ละเม็ดเกล็ดทรายธุลีผง
ใช่ศิลาผาหินหยิ่งทะนง

เพื่อค้อนทุบสร้างองค์วังเวียงใด
เพียงหลอมตัวเป็นมวลธาตุธรรมดา
ป่นย่อยอนุภาคกรุนาไร่
ปลูกเพาะพืชเมล็ดพรรณสว่างไสว
นั่นต่อให้ฟ้ามืดมน ใช่บนดิน![4]

[4] บทสัมภาษณ์วายุ จารุรัศมิ์ โดยรอลงบัส, MediaOne Magazine ปีที่ 47 ฉบับที่ 1278 เดือน สิงหาคม, สํานักพิมพ์ออดินารี่, เขลางค์นคร, ค.ศ.2016

นมนานกาเล ชาวกรีก อียิปต์ และอินเดีย รู้จักใช้สมุนไพรทำลายเชื้อโรค ขณะที่ชาวนารัสเซียนำดินอุ่นระอุพอกรักษาบาดแผลติดเชื้อ ราวศตวรรษที่สิบเจ็ด ชาวโปแลนด์คลุกเคล้าขนมปังกับใยแมงมุมสมานบาดแผล หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ยาเพนนิซิลลินถูกคิดค้นขึ้นสำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรีย…

คุณไล่ไทม์ไลน์การแพทย์ โรคร้ายคร่าชีวิตผู้คนเรือนแสนครั้งอดีต กาละปัจจุบันแทบไร้พิษสง ด้วยนักวิทยาศาสตร์พัฒนาคิดค้นตัวยาและวัคซีนไม่ถ้วนนับสูตรตำรับ คุณเมื่อตัดสินใจเล่าเรียนด้านเภสัชกรรม ฝันคิดสูตรยากำจัดวิงเวียนเมาหัวจนหายเป็นปลิดทิ้ง คุณเพียงเก็บความฝันไว้กับตัว แทบไม่ปริปากเล่ากล่าวใคร สำหรับคนอื่น เมารถเวียนหัวแค่น่ารำคาญ ไม่เจ็บปวด ไม่เลือดตกยางออก ไม่แตกดับปางตาย ออกจะน่าขัน หากพบคนหมกมุ่นกับอาการที่น้ำหนักเบาลอยเมื่อเปรียบกับมะเร็ง

สูตรโครงสร้างไดเมนไฮดริเนท (Dimenhydrinate)[5]

[5] ภาพจาก http://www.newdruginfo.com/pharmacopeia/usp28/v28230/usp28nf23s0_ m26380.htm (สืบค้นวันที่ 9 กันยายน ค.ศ.2016)

เพื่อนเงยหน้าจากนิยายเล่มบาง มุ่นคิ้ว ยื่นหนังสือส่งให้คุณ/ยื่นหนังสือส่งให้ตน

“หนังสือนิยายประสาอะไรหว่า ภาพประกอบอะไรของมึง โปรดบอกกล่าวคนตกวิทยาศาสตร์อย่างกูให้ทราบจะซาบซึ้งใจมาก”

“รูปแสดงสูตรโครงสร้างทางเคมีของยาซึ่งใช้บรรเทาอาการวิงเวียนที่เกิดจากเมารถ เมาเรือยังไงล่ะ” คุณกล่าว/ตนกล่าว

“มึงใส่รูปในหนังสือเพื่ออะไร ต้องการสื่ออะไรให้สังคมรับรู้…” เพื่อนไล่ไม่ยินดีเลิกละ

คุณนิ่งเงียบ หวนประหวัดถึงประโยคยืดยาวของตน ครั้งที่คุณเผลอแย้มความฝันเมื่อนมนานมาแล้ว/ตนนิ่งเงียบ หวนประหวัดถึงประโยคยืดยาวของคุณ ครั้งที่ตนเผลอแย้มความฝันเมื่อนานมาแล้ว

ตนกล่าวกับคุณว่า/คุณกล่าวกับตนว่า “มนุษย์เวียนหัวเมาศีรษะมาแต่เบื้องบุพกาล ตั้งแต่ครั้งยุคหินเก่า บุคคลแรกที่ประสบอาการเป็นสตรี หล่อนโดนชายหนุ่มหนวดเคราผมเผ้ารกเรื้อรุงรังใช้กระบองฟาดหัว ก่อนถูกชักลากถูลู่ถูกัง ลากผ่านพงหญ้าผืนดินขรุขระเข้าถ้ำ[6] ในโลกอนาคต บรรยากาศของอาณานิคมต่างดาว จะส่งผลให้ความดันในหูชั้นในเรรวน กระทบระบบทรงตัวเสียสมดุลจนใคร่อาเจียนรากแตก ป่วยการจะแก้ไขนอกจากรักษาตามอาการ…ไม่พึงสงสัยเลยว่ามนุษย์จะเวียนศีรษะจวบนิรันดร”

[6] ดังนั้นแล้ว สตรีท่านแรกในประวัติศาสตร์ที่มีอาการเมาวิงเวียน น่าจะไม่แผกผิดไปจากวิลม่า ฟลินท์สโตน ภรรยาของเฟรด ฟลินท์สโตน, ดู ‘มนุษย์หินฟลินท์สโตน’, อ้างอิงใน Museum of Broadcast Communications: The Flintstones

ถ้อยคำของตนทำคุณตื่นตะลึง/ถ้อยคำของคุณทำตนตื่นตะลึง ตลอดมาตนมุ่งหวังเอาชนะอาการเมารถ/คุณมุ่งหวังเอาชนะอาการเมารถ/ผมมุ่งหวังเอาชนะอาการเมารถ เห็นมันเป็นศัตรูที่ต้องพิชิต ผมเพิ่งตระหนักว่าตัวหลงผิดมาตลอด จิตใจวนเวียนอยู่กับความอาฆาตพยาบาท สูตรโครงสร้างไดเมนไฮดริเนท เผยให้เห็นมูลธาตุที่กอปรขึ้นเป็นเนื้อยา….คาร์บอน อ๊อกซิเจน ไฮโดรเจน คลอไรด์ ปวงธาตุซึ่งสันดาปความร้อนแก่เลือดเนื้อและชีพจรมนุษย์ไม่แตกต่าง นิยายเล่มบางที่ผมเขียนขึ้น ส่วนหนึ่งขีดวาดหลังฟื้นจากภาวะนอนซม ราวกลับคืนจากความตาย อาการเมารถมอบชีวิตใหม่ให้ผมครั้งแล้วครั้งเล่า ผมต้องรับมันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต หลอมรวมโรคภัยเป็นหนึ่งเดียวกับเซลล์ เนื้อเยื่อ เลือด น้ำเหลือง ทุกส่วนขององคาพยพ

พักหลัง ตัวตลกปรากฏในจอโทรทัศน์ถี่กระชั้น ผังรายการทุกสถานีบังคับผมไม่อาจหลีกหนีรายการยัดเยียดความสุข[7] ต่อไปภายหน้า นอกจากผมที่ระบุเมารถเป็นโรคประจำตัว อาจทบทวีผู้คนมหาศาล

[7] ปัจจุบัน รายการยัดเยียดความสุข ออกอากาศทุกวัน วันละ 24 ชั่วโมง มียอดชมมากกว่าพันล้านล้านวิว

ขณะนั่งเอกเขนกในบ้าน สายตาจดจ่อภาพปรากฏบนจอโทรทัศน์ เราอาจกำลังคิดว่าก้นติดตรึงอยู่กับโซฟา หากในความเป็นจริง เรามิได้หยุดนิ่ง ที่แท้เดินทางถอยย้อนสู่โลกยุคไดโนเสาร์เป็นใหญ่

ตัวตลกรายการยัดเยียดความสุขจะทำเราวิงเวียนจนอาเจียนออกมากองโต

21 พฤศจิกายน พ.ศ.2557

เจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความสงบราบคาบแห่งประเทศชาติ เชิญตัวนายวายุ จารุรัตน์ บ้านเลขที่ 336/789 ถนนสันทราย-ดอยเต่า-ฮอด ซอย 8 หมู่ 7 ต.สันทรายใหญ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ หนุ่มใหญ่วัยดึก/เภสัชกร/กวี — นักเขียนอีโรติกถึงโรงพยาบาล นำไปเข้ารับการอบรมทำดีเพื่อแผ่นดินหลักสูตรเร่งรัด

หลังจากที่เมื่อวานนี้ นายวายุ จารุรัตน์ หนุ่มใหญ่วัยดึกกับเพื่อนหนุ่มใหญ่วัยดึกเช่นกันอีกสองราย นัดหมายแสดงท่าทีก้าวร้าวต่อเจ้าหน้าที่รักษาความสงบราบคาบแห่งประเทศชาติ ด้วยการชูสามนิ้วใส่เจ้าหน้าที่แล้วถ่ายภาพโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ขณะเจ้าหน้าที่กำลังรักษาความสงบปลอดภัยแก่พ่อค้า ประชาชน พระภิกษุ สามเณร นักเรียน นิสิต นักศึกษา เด็ก และสตรี อย่างแข็งขันไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย

เวลาราวบ่ายโมงสี่สิบห้าของวันนี้ เจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความสงบราบคาบแห่งประเทศชาติ ได้เชิญตัวนายวายุ หนุ่มใหญ่วัยดึก ขึ้นรถมุ่งไปยังค่ายทหารมณฑลทหารบกที่ 1984 เมื่อถึงค่ายทหาร นายวายุถูกนำตัวเข้าห้องสอบสวน โดยเฉพาะสอบสวนถึงสาเหตุของการชูสามนิ้ว หลังพิธีสอบสวน หนุ่มใหญ่วัยดึกได้เข้ารับการอบรมทำดีเพื่อแผ่นดินหลักสูตรเร่งรัด ต่อการชูสามนิ้วนั้น หนุ่มใหญ่วัยดึกให้การว่ากระทำลงไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ประกอบกับมึนเมาด้วยสุรายาฝิ่น จึงได้ขาดสติพลาดพลั้งแสดงท่าทางดูหมิ่นเจ้าหน้าที่โดยไม่ได้ตั้งใจ

ภายหลังการสอบสวน ผู้สื่อข่าวเข้าสัมภาษณ์หัวหน้าฝ่ายสอบสวนของกองอำนวยการรักษาความสงบราบคาบแห่งประเทศชาติ พบข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่ปักใจเชื่อนายวายุร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า หนุ่มใหญ่วัยดึกรับเงินผู้ไม่ประสงค์ดีจากต่างประเทศ เพื่อบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศชาติ ทั้งนี้ ทางฝ่ายความมั่นคงจะเฝ้าติดตาม และควานหาหลักฐานเพื่อมัดตัวนายวายุให้แน่นหนาต่อไป เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ในครรลองอันสงบดีงามตลอดไป สมดังความตั้งใจของคณะผู้บริหารประเทศ

อนึ่ง เจ้าหน้าที่ได้คืนตัวเข้านายวายุกลับโรงพยาบาลในเวลาหนึ่งทุ่มสามสิบนาที หลังหนุ่มใหญ่วัยดึกสำเร็จหลักสูตรทำดีเพื่อแผ่นดินแบบเร่งรัด[8]

[8] ‘คุมตัวหนุ่มใหญ่วัยดึก เมาคึกแล้วซ่าชูสามนิ้ว’, หนังสือพิมพ์ดาวสยามมิลเลเนียม, วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2557, พระนคร

ภาคผนวก

บางส่วนตัวบทนิยาย ‘ดั่งองคาพยพร้างเรือนไข้’
โดย วายุ จารุรัศมิ์

ภาค 1 : ซอเมฆ[9]

[9] ซอเมฆ, บทแรกของนิยาย ดั่งองคาพยพร้างเรือนไข้, วายุ จารุรัศมิ์ ให้สัมภาษณ์ว่าปรับปรุง จากเรื่องสั้นชื่อเดียวกัน ตีพิมพ์ในจุดประกายวรรณกรรม, ถอดเทปโดยนิติพงศ์ สําราญคง, สัมภาษณ์เมื่อ 19 เมษายน ค.ศ.2018

1.

ปั้นเสกเมฆฝ้ายฟายฟอง
นฤมิตธารทองคลองฝัน
แต้มแสงแต่งเก็จตาวัน
ขวั้นรุ้งปรุงฝันชีวิต

ชายหนุ่มเค้นคลึงขมับ ภายในหัวราวมีหนอนแมลงชอนไช เสียงกรีดปีกของมวลแมลงทำเขาวางปากกา ไม่อาจตอบตัวเองแน่ชัดว่า เพราะอาการปวดหัวทำให้กวีบทต่อมาชะงักค้าง หรือเพราะเขาอับจนถ้อยคำ จนเหนี่ยวนำอาการปวดหัว

แดดอบอุ่น สะกดชายหนุ่มจมอยู่กับภาระขีดเขียน เงียบงันในภวังค์ กระทั่งสายแดดทอตาข่ายสีเทามุงฟ้า เขาก็เพียงผละจากโต๊ะ ลุกขึ้นจุดเทียน ก่อนทรุดนั่งเก้าอี้ตัวเดิม ร่ายข้อมือราวชาวสวนพรวนดิน จวบแดดของอีกวันทาบขอบฟ้าทิศตะวันออก ชายหนุ่มค่อยบิดตัวไล่ความเมื่อยล้า แหละขีดเขียนจนกองกระดาษทบสุมแทบแตะคานบ้าน

ชาวบ้านมักมาเยือน เมียงมองอยู่ริมรั้ว ส่องสายตาลอดแนวรั้วเข้าไปในตัวบ้าน พ่อเฒ่านักซอถ่ายทอดเรื่องราวของชายหนุ่มเป็นคำค่าวเห่กล่อมรวงข้าวที่ยืนชืดเฉา กล่อมพะยอมที่สลัดใบทิ้งกล่นเกลื่อน ยืนงันเพียงลำต้นอิดโรย ความในค่าวซอนั้น กล่าวถึงผีบ้าผมยาวรุงรัง ตาลึก แก้มตอบ เฮย…แถนฟ้าแล้งน้ำใจบ่ย้อยหลั่งไหล คนผีบ้าบ่กินบ่นอน บ่อู้บ่จากับไผ

พะยอมไร้ใบยังพอเหลือเงาลำต้น ทอดสายตาผ่านกรอบหน้าต่างเห็นยืนต้นเซื่องซึม ขมับยังปวดเรื้อรัง ชายหนุ่มครุ่นคิด นานเพียงไรที่พ่อเฒ่าขับค่าวเป็นหนแรก ก่อนเพลงซอจะล่องกระจายไปสู่หูของคนทุกผู้ ชายหนุ่มปรารถนาให้พ่อเฒ่านำบทกวีของเขาผูกเป็นค่าวสำหรับขับร้อง เส้นสายของซึงชอจะป่ายโยงไปจรดหมอกเมฆ และเด็กชายข้างบนนั้นจะได้ยิน จนใจเพียงคิดวาดฝันเพ้อ บทกวียังเขียนไม่เสร็จ มวลแมลงกรีดปีกกระหึ่ม เขาควานหาแอสไพรินจนทั่ว แม้นสักเม็ดก็หาไม่พบ

2.

ในครุ่นคำนึง ค่าวซอยังจำเรียงเจื้อยแจ้ว ผสานเสียงกรีดปีกของมวลแมลง แดดกระทบจนต้องหรี่ดวงตา ก้าวเท้าฝ่าแดดแรง ต้นพะยอมไร้ใบที่เห็นเล็กน้อยค่อยขยับขยายใหญ่โต ยั้งฝีเท้าเมื่อประจันลำต้นพะยอม

เฮย…แถนฟ้าแล้งน้ำใจบ่ย้อยหลั่งไหล กิ่งก้านพะยอมจึงกรอบแกร็น เขาใช้ฝ่ามือข้างที่ด้านสากเพราะกำปากกาทาบสัมผัสลำต้น รู้สึกเพียงความว่างกลวง บนซากร่างซึ่งครั้งหนึ่งเคยอวลชีวิตวิญญาณ นกกาหรุบปีกทำรัง กระรอกกระแตเต้นไต่

“น้ำเสียงพ่อเฒ่ากังวานไพเราะราวเสียงระฆังโบสถ์”

ชายหนุ่มเอ่ยชื่นชม ในวันที่พ่อเฒ่าหิ้วเหล้าป่ามาเยือนถึงบ้าน

พ่อเฒ่ายกจอกซดเหล้าเฮือก ใบหน้าของแกแดงก่ำ ขับเน้นริ้วรอยกาลเวลาที่กร่อนเซาะ ลมร้อนกรูมาอบอ้าว หอบคลีฝุ่นพรูขึ้นฟุ้ง

“นั่นเป็นเพราะได้ซอดี”

พ่อเฒ่าพูด ก่อนเอนตัวนอนราบกับแคร่ หนุนแขนจ้องฟ้าเมฆ คลีฝุ่นยังฟุ้งตลบ ความทรงจำของชายหนุ่มทวนกลับไปครั้งจับปืนลาดตระเวน ชุดลายพรางสีเขียว หมวกเหล็ก ท็อปบู๊ต เป้สนาม

สะท้านหลบอยู่เบื้องหลังโขดหินกำบัง เหงื่อโลมฝ่ามือแม้นกระชับปืนก็มิอาจจับมั่น พลันวินาทีที่ร่างของศัตรูปรากฏ นิ้วกุมโกร่งไกกลับกระดิกทํางาน ปัง-ปัง-ปัง ลืมสิ้นความหวาดกลัว สรรพสิ่งรอบข้างหยุดนิ่งเมื่อเสียงปืนแตกสงบลง ใบไม้พลิ้วร่วง แหละนิ้วชี้ของเขาชาเหน็บ

“เพราะได้ปืนดี”

ชายหนุ่มพึมพำ ยกจอกกรอกเหล้าหายวาบ รู้สึกแสบร้อนตลอดลำคอถึงกระเพาะ กลิ่นไหม้ของหัวใจอวลกำจาย พ่อเฒ่ากรนครอกม่อยพับไปแล้ว ข้าวโพดหมักพร่องไปค่อนขวด

ไม่มีใครรู้กำพืดของชายหนุ่ม แดดเปรี้ยงต้นเดือนเมษายน ยามใกล้พลบยังเดือดจ้า บนถนนลูกรังสีแดงฝุ่น คนผมยาวแบกเป้ ทอดรอยเท้าให้เลือนลบโดยฝอยฝุ่น

คนผมยาวเข้ามาแหละไม่เคยจากไปอีกเลย…

นับตั้งแต่แรกเห็น พะยอมไม่เคยผลิใบ ชายหนุ่มเข้าใจว่ามันยืนต้นเพียงรอวันที่จะเปื่อยป่นเท่านั้น

3.

บ่อยคืน ชายหนุ่มฝันถึงร่างที่ปรุพรุนไปด้วยรูกระสุน โชกเลือด สีแดง เสียงครวญครางของศัตรูมักปลุกเขาให้สะดุ้งตื่น ดอกเหงื่อย้อม เนื้อตัว มันเป็นเสียงที่คุ้นชิน หลายครั้งในวัยเยาว์ ชายหนุ่มเคยเปล่งมันออกมา ยามที่ชายคนนั้นเมามายกลับบ้าน เฆี่ยนตีเขาไม่ยั้งด้วยหวายแช่น้ำ แม่ผวาเข้าปกป้อง เนื้อนวลของแม่จึงพร้อยด้วยริ้วแผล

เสียงร้องของเขา ของแม่ ของศัตรู แม้แต่เสียงร้องยามใกล้สิ้นใจของชายใจยักษ์ ล้วนกลั่นออกมาจากบาดแผล กังวานโหยหวนและกรีดก้อง ความเจ็บแค้นละม้ายคล้ายคลึง

การพบกันระหว่างชายหนุ่มกับเด็กชายเริ่มต้นในเช้ามืดของวันหนึ่ง ฝันร้ายปลูกชายหนุ่มตื่นขึ้น ดวงดาวพรางตัวใต้หมอกหนา ชายหนุ่มเดินออกจากบ้าน เด็กชายลากตีนเปล่าเขรอะฝุ่นสวนทางมา ผ้าผวยเด็กชายเบาบาง ชายหนุ่มสังเกตเห็นอาการเทิ้มสั่น

ตะวันเผยฟ้าทีละคืบ ยังไม่มีคำพูดใดใดเอ่ยขึ้นมา ดวงตาจับจ้องฟ้าบน ลานกรวดเม็ดเป้งสีแดง ชายหนุ่มกับเด็กชายนั่งเจ่ารอฟ้าเปิดโปร่ง

“ฉันน่าจะพกปากกาหมึกดำมาด้วย” ชายหนุ่มพูด “เมฆดำทำให้เกิดฝน”

“ลมพัดฝนไปตกเทที่อื่นทุกครั้ง”

คำพูดของเด็กชายทำให้เขาคิดถึงพะยอมไร้ใบ ชายหนุ่มนิ่งเงียบ

“น้าปั้นเมฆเป็นไหม” เด็กชายถาม

“เป็นสิ ตอนเด็กโน้น ฉันเก่งที่สุดในหมู่บ้าน” ชายหนุ่มตอบ พิศมองฝ่ามือทั้งสองข้าง

“น่าเสียดาย บัดนี้ฉันลืมวิธีปั้นเมฆหมดแล้ว”

“ฉันไม่เคย…” น้ำเสียงหดหู

ลำแดดค่อยค่อยหนาทึบ หุงฟ้าจนเห็นปุยขาวพร่าง ละลาน

เขาครุ่นคิดอยู่อึดใจหนึ่ง ก่อนเอื้อมมือขึ้นเด็ด กอบกำอย่างทะนุถนอม เด็กชายมีทีท่าฉงน

“ไหนว่าลืมเลือนไปแล้ว”

“ใช่-สําหรับฉัน” ชายหนุ่มประคองส่งมอบแก่เด็กชาย

“เธอควรจะลองดู”

4.

ดวงตาของคนผมยาวหม่นเศร้า พ่อเฒ่าจดจำวันแรกที่เขาแบกเป้มาถึงหมู่บ้าน แผ่นดินเบื้องหลังอาจทิ้งซากปรักหักพังเอาไว้ในใจของชายผมยาว ราวกับมีก้อนขัดลำคอ พ่อเฒ่าได้แต่ทอดถอนหายใจ ไม่อาจบอกกล่าว…ไม่มีสถานที่ปลูกสร้างหัวใจ โดยเฉพาะที่นี่ แผ่นดินอันผากแล้ง แผดผลาญผู้คนหม่นไหม้

วันเผาศพเด็กชาย หลัวฟืนถูกสุมใต้แคร่ เสื่อกกห่มคลุมเรือนร่างผอมแกร็นไร้ชีวิต ฝูงแร้งโฉบลงเกาะคบคาพะยอม พลุ่งพล่าน สาดทอดวงตากระเหี้ยนกระหือรือ ยามนกหัสดีลิงค์ร้องร่ำ น้ำมันจึงหลั่งราด เปลวเพลิงลามเลียสรรพสิ่ง หลงเหลือเพียงเถ้าตะกอน ลมพัดเถ้ากระดูกเด็กชายฟุ้งกระจาย

“มันเศร้าเกินไป”

พ่อเฒ่าบอกคนผมยาว เมื่อเขาถาม…ไฉนซอจึงถูกเหน็บไว้ข้างฝา งานศพดำเนินไปอย่างเงียบชื้อ

“เหมือนบทกวีของพ่อหนุ่ม เศร้าเกินไป หดหู่เกินไป”

คนผมยาวเงียบงัน น้ำตารื้น

เขาจดจำความรู้สึกของตัวเองได้เป็นอย่างดี ทุกข์ เศร้า หดหู่ เขา เคี่ยวคั้นมันออกมา ขีดเขียนอย่างบ้าคลั่ง ข้าฝันถึงโลกแสนงาม ปรารถนาความสงบสุข แต่ข้าไม่เชื่อในโลกแห่งนั้น นี่สิ-ใบหน้าบิดเบี้ยวของผู้คน ร่างกายที่ผ่ายผอมซูบโซ เสียงกรีดร่ำร้อง กลิ่นคาวเลือดและอาจมอันคละคลุ้ง เหล่านี้คือโลกที่เที่ยงแท้ ปากกาของข้า กระดาษของข้า พกบรรจุสารัตถะที่จริงแท้ นั่นคือความป่วยไข้

คนผมยาวบ่นบ้าถึงเสียงแมลงกรีดปีกที่ดังอึงอยู่ในหัว ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้กวีบทถัดมาชะงักค้าง ในวันที่เมฆดำก่อตัวครึ้มทะมึน พ่อเฒ่าพบเขาในสภาพคลุ้มคลั่ง ดวงตาแดงก่ำ จิกทึ้งผมเผ้าหนวดเคราตัวเอง

พ่อเฒ่าขึงสายซอ กรีดนิ้วขับค่าวร่ายเรื่องราวของคนหนุ่มผีบ้า นานแรมร้อยวันพันเดือน คนผมยาวจึงคลายความคลุ้มคลั่ง

“พ่อเฒ่า หากฉันเขียนบทกวีเสร็จ พ่อเฒ่าต้องรับปากจะผูกมันเป็นค่าว”

“หวังว่ามันคงไม่เศร้าเกินไป”

“ไม่หรอก” คนผมยาวตอบ

เสียงดังก้องกึกครืนครืน เรียกพ่อเฒ่าเงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้าเทาหม่น พริบเดียว บังเกิดลมหอบกระโชก พัดพาเมฆดำคลาเคลื่อน พ่อเฒ่ามองผ่านหน้าต่าง ทอดสายตาไปไกลลิบ นอกจากโค้งฟ้าอิ่มแดด ดานดินทุกหย่อมแตกแห้ง ยังมีซากแห้งของพะยอมยืนก้อมค้อมอยู่

พ่อเฒ่ายืนนิ่งอยู่ริมหน้าต่าง แกยืนรอบทกวีของคนผมยาว มันยังแต่งไม่เสร็จ.

One thought on “คลื่นเหียน

Leave a comment