คำ ผกา เขียน
[To read “House of Flesh: On Eroticism” with an introduction in English, click here.]
พิมพ์ครั้งแรกเป็นตอนๆ ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 49 ฉบับที่ 19-21 4-24 ตุลาคม 2545
รวมเล่มใน กระทู้ดอกทอง พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2546 โดยแพรวสำนักพิมพ์
พิมพ์รวมเล่มครั้งที่สอง (ปรับปรุงใหม่และเพิ่มเติมบทความ) มีนาคม 2556 โดยสำนักพิมพ์อ่าน
จะเป็นการเสี่ยงเกินไปหรือเปล่าก็ไม่รู้ที่หยิบเอางานอีโรติกมาเขียนถึง เพราะสารภาพกันตามตรงว่า ฉันไม่ได้รู้อะไรเกี่ยวกับวรรณกรรมอีโรติกสักเท่าไร และความเข้าใจในคำว่าอีโรติกของฉันมันก็เป็นเพียงความเข้าใจพื้นๆ คือไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว อีโรติกมีความหมายตามตัวอักษรว่าอย่างไร ไม่ได้รู้ว่าเทพอีรอส อันเป็นที่มาของคำว่าอีโรติกนั้น มีนิสัยใจคอเช่นไร ไปก่อกรรมทำเข็ญอะไรไว้ จึงกลายเป็นต้นตอของคำว่าอีโรติก คำว่าอีโรติกที่ฉันเห็นจึงเหมือนไม่ใช่ตัวอักษร แต่เป็นรูปภาพแสดงความหมายของอะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศและกามารมณ์ พูดสั้นๆ คือ พอเห็นคำว่าอีโรติกปุ๊บ สมองก็ถอดรหัสอัตโนมัติปั๊บว่ามันต้องเป็นอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องคาวๆ ทางเพศแน่นอน ทีนี้เพื่อให้ดูเหมือนคนมีหลักการ ฉันจึงเปิดพจนานุกรมดูเสียหน่อยว่าเขาอธิบายความหมายของคำว่าอีโรติกไว้อย่างไร พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ฉบับคอนไซส์ ของเธียรชัย เอี่ยมวรเมธ ที่ฉันใช้อยู่เป็นประจำ บอกว่า อีโรติก ถ้าเป็นคำคุณศัพท์แปลว่า 1. (ก่อให้เกิด) ความรักทางเพศ; (ก่อให้เกิด) ความใคร่ หรือกามารมณ์; โลกีย์ 2. ได้รับผลกระทบทางเพศอย่างรุนแรง ถ้าเป็นคำนามแปลว่าบุคคลที่มีกามารมณ์รุนแรง; โคลงรัก, โคลงพิศวาส
ทีนี้ฉันเลยอยากรู้ต่อไปอีกว่า แล้วเรื่องอีโรติกมันต่างจากเรื่องโป๊หรือที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า pornography อย่างไร พจนานุกรมของเธียรชัย เอี่ยมวรเมธ อธิบายว่า การพรรณนาทางโลกียวิสัย; วรรณคดีโลกีย์; ภาพวาดคาวโลกีย์
เป็นอันว่าข้อแตกต่างระหว่างอีโรติกกับพอร์นอกราฟีนั้นมีอยู่นิดเดียวคือ อันหนึ่งไม่คาว และอีกอันหนึ่งคาว แต่เป็นเรื่องโลกีย์เหมือนกัน
ทีนี้ เรารู้ได้อย่างไรว่าอะไรคาวและอะไรไม่คาว คำนำว่าด้วยวรรณกรรมอีโรติกในหนังสือรวมเรื่องอีโรติกชื่อ พลับพลาแห่งเนื้อนานาง โดย “ฉลิบไร” ให้เส้นแบ่งเอาไว้ว่า
ท่วงทำนองการเขียนวรรณกรรมอีโรติก ท้าทายความสามารถและชั้นเชิงในการประพันธ์เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเขียนที่คาบลูกคาบดอกกับศีลธรรมจรรยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณกรรมอีโรติกที่อยู่ในระดับการบรรยายฉากเสพสมอย่างละเอียดลออ ถ้างานนั้นใช้ภาษาที่มีสำนวนสละสลวย ขัดเกลาอย่างงดงาม ประณีต การบรรยายฉากกามาต่างๆ ก็จะกลายเป็นงานเขียนที่มีศิลปะ ได้สุนทรียรส แต่ถ้าเขียนอย่างหยาบคายก็จะกลายเป็นลามกอนาจารไปทันที
จุดสำคัญของงานเขียนแนวอีโรติกจึงต้องใช้สำนวนภาษาที่มีเชิงชั้น รู้จักเลือกคำที่ให้ความรู้สึกงดงาม ยามที่ผู้เขียนถ่ายทอดภาพแห่งการเสพสมหรือความรู้สึกปรารถนาในกามรสของตัวละคร ตลอดจนปีติสุดยอดในทางเพศรส […] เรียกได้ว่า งานเขียนอีโรติกจะต้องมีมาตรฐานของสุนทรียะในระดับสูงจริงๆ เป็นการนำเสนอภาพที่ใช้จินตนาการสร้างสรรค์มากกว่าการเสนอภาพเช่นการสมสู่อย่างเปล่าเปลือยล่อนจ้อนอย่างไร้ศิลปะในด้านภาษาและการถ่ายทอด (หน้า 6-7)
ในที่นี้ชั้นเชิงทาง “ภาษา” จึงกลายเป็นตัวกำหนดว่างานชิ้นไหนเป็นงาน ลามกคาวโลกีย์ และงานชิ้นไหนมีสุนทรียรสทางศิลปะและจะได้ชื่อว่าสูงส่งเป็นงานอีโรติก ปัญหาที่ตามมาอีกก็คือ “ภาษา” โดยตัวมันเองไม่เคยหยุดนิ่ง บทอัศจรรย์ในวรรณคดีประเภท “ฝนตก กบร้อง” เอาไปอ่านให้วัยรุ่นสมัยนี้ฟัง เขาคงไม่สามารถถอดรหัสสัญลักษณ์ กำซาบในรสสุนทรียะในภาษาจนก่อให้เกิดกำหนัดกำซ่านใดๆ ไปกับบทอัศจรรย์เหล่านั้นได้ และในเมื่อมันหมดความสามารถในการกระตุ้นให้เกิดความระรื่นทางกามารมณ์ บทอัศจรรย์ก็คลายความเป็นอีโรติกไปแล้วสำหรับคนรุ่นปัจจุบัน อีกทั้งเราไม่เคยศึกษาประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงความหมายของถ้อยคำกันอย่างจริงจัง เราจึงไม่มีโอกาสรู้เลยว่า ภาษาที่เราเห็นว่ามันหยาบคายกันอยู่ในปัจจุบันนี้มันเคยหยาบคายในสมัยอยุธยาหรือในสมัยต้นรัตนโกสินทร์หรือไม่ สิ่งที่เราเห็นว่า “งาม” “มีศิลปะ” หรือ “มีชั้นเชิง” นั้น เป็นความงาม เป็นศิลปะ หรือชั้นเชิงของยุคสมัยใด
หรือโดยไม่ต้องข้ามกาลเวลาขนาดนั้น แม้เพียงข้ามภูมิภาค คำที่หยาบในภูมิภาคหนึ่งอาจเป็นคำที่สามัญที่สุดในอีกภูมิภาคหนึ่งก็ได้ เช่น ในภาษาเหนือเราเรียกขนทุกอย่างว่า “หมอย” เช่น เรียกเคราว่า “หมอยคาง” เรียกหนวดว่า “หมอยปาก” เรียกขนจั๊กกะแร้ว่า “หมอยจั๊กแร้” การตีขลุมยกเอาความงามลอยๆ ขึ้นมาอ้างเป็นตัวแบ่งชั้นวรรณะของงานว่าอันไหนเป็นอีโรติกและอันไหนไม่เป็นอีโรติกจึงค่อนข้างมีปัญหา
พูดมาตั้งยึดยาวก็เพื่อมาสู่ข้อสรุปแบบที่ใครๆ ก็ชอบพูดกันนักกันหนาว่า ไม่ว่าจะเป็นอีโรติกหรือพอร์นอกราฟี มันก็ล้วนแต่เป็นโซเชียลอินเวนชั่น (Social Invention) หรือสิ่งประดิษฐ์ทางวรรณกรรมก็คงพอกล้อมแกล้มได้เหมือนกัน
คำนำในหนังสือเรื่อง พลับพลาแห่งเนื้อนานาง โดยฉลิบไร ก็คงเป็นการอ้างเอาความหมายอีโรติกทางวรรณกรรมของฝรั่งมารีอินเวนต์ หรือประดิษฐ์ซ้ำให้กับวงการวรรณกรรมไทยอีกที ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเรื่องเสียหายอะไร เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรที่เป็นออเธนทิซิตี้ (authenticity) หรือของแท้ เจ้าเก่าดั้งเดิมตัวจริงเสียงจริงอยู่แล้ว วัฒนธรรมในโลกนี้มันก็ล้วนแล้วแต่หยิบยืมกันไปขโมยกันมาทั้งสิ้น ยิ่งงานวรรณกรรม ฟิกช่งฟิกชั่น อะไร ก็ยิ่งไม่ใช่ของไทยใหญ่เลย เป็นของใหม่ที่เราเพิ่งจะมีกันมาไม่นานทั้งนั้น
ที่นี้ในเมื่อไปเอาของฝรั่งเขามาเสียแล้ว ก็ต้องไปทำความรู้จักกันให้มากขึ้นกว่านี้หน่อย คือแทนที่จะเชื่อไปดื้อๆ ด้านๆ ว่าเขาบอกให้สวยก็ต้องสวย เขาบอกให้มีศิลปะก็มีศิลปะ โดยไม่เคยตั้งคำถามเลยว่าไอ้ความสวยหรือความมีศิลปะนั้นมันลอยมาแต่ไหน
เคยอ่านสัมภาษณ์นักเขียนผู้หญิงคนหนึ่งเรื่องการเขียนงานอีโรติก เธอบอกว่าเธอจะเขียนงานอีโรติกก็ต่อเมื่อเธอมีภาชนะสวยพอที่จะรองรับ เหมือนกาแฟที่เธอคิดว่ากาแฟอย่างเดียวกัน แต่ดื่มในถ้วยสังกะสีกับถ้วยกระเบื้องเนื้อดี ก็ย่อมให้รสชาติละเมียดละมุนต่างกัน ฉันไม่ค่อยฉลาด เลยไม่ค่อยเข้าใจในสิ่งที่เธอพูดมากนัก แต่เดาเอาว่าเธอคงเห็นงานอีโรติกแบบเดียวกับที่ฉลิบไรเอามารีอินเวนต์ให้เราอ่าน คือเชื่อว่า “ความงดงาม” จะช่วยพิวริฟาย (purify) หรือชำระล้างความหยาบช้าลามกของเรื่องเพศได้
เมื่อเป็นดังนั้น มันจึงมีคำถามว่า แล้วทำไมเราต้องพิวริฟาย หรือช่าระ “เพศ” ให้มันสะอาด งดงาม นักวิชาการฝรั่งมักจะอธิบายว่ามันเกิดจากการที่ร่างกายกับจิตใจมันถูกแบ่งแยกออกจากกัน โดยจิตใจถูกยกให้อยู่ในฐานะที่สูงกว่าร่างกาย ไอ้การแบ่งสองอย่างให้มันชัดแจ้งแดงแจ๋อย่างนี้ทั้งเรื่องงานศิลปะและงานเขียน มันเพิ่งจะมีในศตวรรษที่ 18 นี่เอง (สำหรับโลกตะวันตก) เมื่อแบ่งร่างกายกับจิตวิญญาณออกจากกัน เรื่องเพศก็วิ่งไปจับคู่อยู่กับร่างกายและความรักก็วิ่งไปจับคู่สูงส่งอยู่กับจิตวิญญาณ
ในทางอุดมคติ มนุษย์คงอยากละทิ้งเนื้อหนังมังสา และมุ่งยกระดับจิตวิญญาณของตนเองโดยการอยู่กับความรักอันผุดผ่อง แต่ในทางปฏิบัติ คงยากที่จะปฏิเสธได้ว่าร่างกายที่เรารังเกียจเดียดฉันท์ว่าต่ำและสกปรกนี้แหละ คือที่มาของความหฤหรรษ์ทั้งจากการเสพ การสัมผัส ปราศจากร่างกายก็เหมือนกับปราศจากซึ่งเครื่องมือที่จะใช้ในการเสพสุข
ความรู้สึกที่เรามีต่อร่างกายจึงเป็นความขัดแย้งแบบทั้งรักทั้งเกลียด เกลียดที่มันต่ำช้า สามานย์ หนักหนาไปด้วยกิเลส แต่ก็ขาดมันไม่ได้
นิยามวรรณกรรมอีโรติกจึงเป็นเหมือนเครื่องมือประนีประนอมความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับร่างกายของเราเอง โดยประดิษฐ์ความหมายมาให้เข้าใจว่าเป็นวรรณกรรมที่มิได้มุ่งสร้างความบันเทิงหรือกำหนัดแก่ร่างกาย หากมุ่งจรรโลงสุนทรียะทางอารมณ์ เหมือนการดื่มกาแฟที่มักจะอ้างกันว่าเป็นการดื่มเพื่อความรื่นรมย์ทางอารมณ์และจิตใจ มากกว่าเป็นการดื่มเพื่อเพิ่มระดับคาเฟอีนในเส้นเลือด ถ้วยกาแฟสวยๆ จึงมีความจำเป็นด้วยประการฉะนี้
ฉันก็อยากจะรู้นัก ว่าเราจะวิ่งหนีร่างกายอันต่ำทรามของเราไปได้สักกี่น้ำ
ถ้าการอ้างเอาความงามในเชิงวรรณศิลป์มาตัดสินว่างานชิ้นไหนเป็นอีโรติกและงานชิ้นไหนเป็นงานอนาจาร คือความพยายามจะประนีประนอมปรารถนาแห่งร่างกายและการธำรงความบริสุทธิ์งดงามของจิตใจเอาไว้ให้ได้ในเวลาเดียวกัน แต่การกักขังตนเองเอาไว้ในกรงแห่งความงามนั้นก็มีปัญหา เพราะความงามก็มีหลายแบบ หลายมาตรฐาน และถ้าหยิบฉวยจากที่ปรากฏในคำนำจากหนังสือเรื่อง พลับพลาแห่งเนื้อนานาง ของฉลิบไร มาวัดคุณค่าเพลงลำตัด ปรบไก่ หมอลำ ไปจนถึงบทซอเก็บนกของภาคเหนือ เพลงพื้นบ้านเหล่านี้เห็นที่จะเข้าข่ายลามกอนาจารไปหมด เพราะเต็มไปด้วย หอสระอี และคะวะยะไปเสียทั้งนั้น
การอธิบายการใช้คำหยาบคายรุนแรง (ในความรู้สึกของคนเมือง) ใน เพลงพื้นบ้าน มักจะอธิบายกันว่าเป็นความจำเป็นในเชิงพิธีกรรม ซึ่งอาจจะถูก แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะซอเก็บนกของทางภาคเหนือนั้นมุ่งไปทางบันเทิง ขณะเดียวกันก็มุ่งสอนธรรมะไปในตัว เพียงแต่ “คำหยาบ” เหล่านั้น มันคือคำที่ชาวบ้านพูดและใช้กันในชีวิตประจำวัน มันอาจจะไม่ใช่คำสุภาพ แต่มันก็ไม่ใช่คำหยาบคายเสียทีเดียว
เมื่อเป็นเช่นนี้ สังคมไทยจึงไม่สามารถสร้างทฤษฎี หรือนิยามเกี่ยวกับวรรณกรรมอีโรติกของตนขึ้นมาได้ เพราะมองข้ามความอีโรติกในวรรณกรรมท้องถิ่น อันไม่เข้ามาตรฐานสังคมตะวันตก ทำได้อย่างมากก็แค่กลับไปหาบทอัศจรรย์ในวรรณกรรมราชสำนัก เมื่อเป็นเช่นนี้นักเขียนไทยจึงไม่ใคร่สามารถเขียนงานอีโรติกอย่าง “ถึงอกถึงใจ” ออกมาได้ เพราะไปติดกับอีโรติกที่รับรู้ผ่านฝรั่ง ที่มีกำเนิดและพัฒนาการมาเพื่อตอบสนองสังคมฝรั่ง หรืออีกทีก็ไปรู้จักอีโรติกของเจ้าขุนมูลนายที่เขียนขึ้นเพื่อตอบสนองอารมณ์ความต้องการและความพึงพอใจแบบเจ้าๆ อย่างที่พบในวรรณกรรมราชสำนัก
ที่เขียนมาอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเลิกอ่านและเลิกเชื่อถือเรียนรู้อีโรติกของสังคมอื่นๆ ที่ไม่ใช่สังคมไทย แต่เพื่อจะบอกว่า อย่าไปเชื่อในนิยามของความอีโรติกแบบใดแบบหนึ่ง หรือของสังคมใดสังคมหนึ่งต่างหาก และอย่าไปยึดติดเพียงว่าอีโรติกต้องสวย เพราะถ้าเพียงแต่เขียนเรื่องอีโรติกโดยใช้คำสวยๆ แต่ในเรื่องเต็มไปด้วยแนวคิดที่โง่เขลา ตื้นเขิน มันก็คงไม่มีความหมายอะไรเช่นกัน
ถ้วยใส่กาแฟนั้นสำคัญเท่าๆ คุณภาพของเนื้อกาแฟและความรักใคร่ชอบพอในกาแฟอย่างจริงใจ เรื่องอีโรติกที่เขียนๆ กันอยู่ทุกวันนี้มัวแต่หมกมุ่นอยู่กับการหาถ้วยกาแฟสวยๆ และพยายามที่จะ romanticize หรือทำกาแฟให้โรแมนติกกว่าที่มันเป็นจริงๆ
รวมเรื่องสั้นอีโรติก พลับพลาแห่งเนื้อนานาง คือความตั้งใจที่จะแนะนำเรื่องอีโรติกจากสังคมต่างๆ ให้คนไทยรู้จัก มีทั้งหมด 14 เรื่อง แต่ที่น่าเสียดายที่สุดคือไม่มีการแจ้งให้คนอ่านรู้เลยว่าแต่ละเรื่องในหนังสือเล่มนี้แปลมาจากเรื่องอะไร เป็นวรรณกรรมของชาติไหน ภาษาไหน เขียนขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ จนฉันเกือบๆ จะคิดว่าเรื่องสั้นทุกเรื่องเป็นเรื่องที่ฉลิบไรแต่งขึ้นมาเอง แต่พอมาอ่านคำนำก็พบว่าเป็นเรื่องแปล (ไม่ได้บอกโดยตรง) เพราะได้บอกว่า เรื่อง “พลับพลาแห่งเนื้อนานาง” นั้นเป็นเรื่องสั้นระดับคลาสสิกของตะวันออกกลาง เขียนขึ้นมาในต้นศตวรรษที่ 20 (หน้า 11) มีการบอกให้ผู้อ่านทราบผ่านคำนำว่ามีบางเรื่องเขียนขึ้นมาในศตวรรษที่ 19 เช่น “พายุ” “พลับพลาแห่งเนื้อนานาง” และ “อ้อยหวาน” (หน้า 9) แต่ก็เป็นการบอกอย่างสะเปะสะปะขาดระเบียบ และจะเห็นได้ว่าขณะที่ในหน้า 9 บอกว่า “พลับพลาแห่งเนื้อนานาง” นั้นเขียนในศตวรรษที่ 19 แต่ในหน้า 11 กลับบอกว่าเรื่องนี้เขียนขึ้นมาในต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อเป็นเช่นนี้คนอ่านก็มึนงงสับสนว่าตกลงเรื่องนี้เขียนขึ้นมาเมื่อไหร่กันแน่ และข้อมูลอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้จะเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน
ความสับสนในหนังสือเล่มนี้ยังปรากฏให้เห็นอีกในส่วนของคำนำโดย ฉลิบไร ซึ่งเขียนไว้ว่า
นอกจากนี้ ถ้าเป็นไปได้ งานเขียนแนวอีโรติกควรเป็นสื่อให้ผู้อ่านได้พบข้อคิด หรือสิ่งที่มีคุณค่าผ่านงานเขียนนั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม วัฒนธรรม อารมณ์ ความรู้สึก จิตวิทยาทางเพศ (Psycho Pathia Sexulis) ปรัชญาทางเพศ ฯลฯ เพราะงานอีโรติกนั้นจะเป็นเพียงแค่เรื่องอ่านเล่นเท่านั้น ถ้าเพียงแต่เน้นอารมณ์หรือความหฤหรรษ์แห่งกามรส โดยมิได้มีสาระปรากฏให้เห็น ซ้ำรังแต่จะทำให้เรื่อง ‘มีราคาถูก’ หาค่าอะไรมิได้! (ฉลิบไร, หน้า 8, เน้นตามต้นฉบับ)
ส่วนในตัวโปรยที่ปกหลังมีข้อความเขียนไว้ดังนี้
หัวใจของวรรณกรรม “อีโรตึก” คือการกล่าวถึง “ความรักและกามารมณ์” อย่างเข้าใจ ด้วยสำนวนภาษาที่มีเชิงชั้น กระชับ เฉียบคม และมีเอกภาพในตัว เป็นงานที่ต้องใช้สุนทรียะในระดับสูงจริงๆ เพื่อชวนให้ผู้อ่านคล้อยตาม และควรสื่อให้ผู้อ่านได้พบข้อคิดหรือสิ่งที่มีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคมวัฒนธรรม อารมณ์ ความรู้สึก จิตวิทยาทางเพศ ปรัชญาทางเพศ ฯลฯ มากกว่าการเน้นทางอารมณ์หรือความรู้สึกหฤหรรษ์แห่งกามรส โดยมิได้มีสาระปรากฏให้เห็น ซึ่งรังแต่จะทำให้เรื่องมีราคาถูก หาค่ามิได้” (อ.กอบกุล อิงตุทานนท์, ปกหลัง)
ข้างบนเป็นข้อเขียนของฉลิบไร ข้างล่างเป็นข้อเขียนของ อ.กอบกุล ข้างบนเป็นคำนำ ข้างล่างคือตัวโปรยที่ปกหลัง มีข้อความท่อนหลังเหมือนกันเป๊ะ อ่านแล้วก็ไม่รู้ว่า ฉลิบไร กับ อ.กอบกุล เป็นคนเดียวกันหรือเปล่า ถ้าเป็นคนเดียวกัน ทำไมจึงไม่เลือกใช้ชื่อใดชื่อหนึ่ง หรือเลือกอ้างอิงมาเพียงคนเดียว (เพราะข้อความเกือบจะเหมือนกันทุกประการอยู่แล้ว) ถ้าฉลิบไรจะเลือก “อ้างอิง” ในสิ่งที่ อ.กอบกุลเคยเขียนเอาไว้ ทำไมไม่บอกว่าอ้างอิงมา และถ้าหากปกหลังจะเลือกใช้ที่ อ.กอบกุลเคยเขียนเอาไว้ ทำไมไม่บอกให้คนอ่านรู้ ว่าไปอ้างจากหนังสือหรือเปเปอร์ชิ้นไหนของอ.กอบกุล
นี่คือความชุ่ย
ยังไม่นับการละเลยการบอกที่มาที่ไปของแต่ละเรื่องที่เลือกมาแปล ไม่ได้อ้างให้คนอ่านรู้เลยว่าฉลิบไรไปเอาเรื่องเหล่านี้มาจากหนังสือเล่มไหน หรือได้ไปจาริกในพีระมิด แล้วเดินสะดุดเอาพับกระดาษปาปิรุสข้างหลุมศพฟาโรห์ ในพับกระดาษนั้นคือเรื่องสั้น 14 เรื่องที่ฟาโรห์ประทานมาให้ฉลิบไรได้เห็นต้นฉบับแต่เพียงผู้เดียว ไม่อาจเปิดเผยที่มาให้แก่ผู้อ่านได้
ในส่วนที่เป็นประวัติของวรรณกรรมอีโรติกมาจนถึงศตวรรษที่ 19 ที่เป็นเหมือนภาคผนวกก็ไม่ปรากฏการอ้างอิงใดๆ เช่นกัน ฉันเข้าใจว่านี่ไม่ใช่หนังสือวิชาการและไม่จำเป็นต้องอ้างขนาดทำเชิงอรรถกันละเอียดยิบ แต่อย่างน้อยควรจะทำบรรณานุกรมให้คนอ่านตามไปตรวจสอบได้ว่าข้อมูลเหล่านี้ ฉลิบไรไปหยิบ ตัดต่อ คัดลอกมาจากหนังสือเล่มไหนบ้าง เพราะนี่ไม่ใช่บทวิเคราะห์ที่ฉลิบไรเขียนขึ้นมาเอง แต่เป็นการเอาข้อมูลมาแบ่งปันให้คนอ่านรู้ เพราะฉะนั้นจะมาโมเม ไม่อ้างอิงใครเลย มันออกจะชุ่ยไปมาก
คุณค่าของหนังสือชุดนี้จึงตกต่ำลงเพราะคนทำหนังสือละเลยที่จะวางเรื่องอีโรติกแต่ละเรื่องไว้ในบริบทของประวัติศาสตร์ และนั่นทำให้ 14 เรื่องสั้น ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ขาดเอกภาพ และไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไม 14 เรื่องนี้ถึงถูกนำมาไว้รวมกัน เช่นในครั้งแรกเราว่ามันถูกนำมารวมกันเพราะเป็นเรื่องอีโรติกของตะวันออกกลาง แต่ก็ต้องเปลี่ยนใจเมื่ออ่านไปถึงเรื่อง “แมลงสาบวิเศษ” เพราะฉากเกิดขึ้นในนิวยอร์ก หรืออาจจะเรียงตามเวลาของการเขียน อันเป็นข้อมูลที่พิสูจน์ไม่ได้อีกเพราะผู้รวบรวมและผู้แปลไม่ยอมบอกเราว่าแต่ละเรื่องเขียนขึ้นมาเมื่อไร
ในคำนำบอกว่า “หนังสือเล่มนี้มีจุดประสงค์ที่จะเสนอตัวอย่างงานเขียนแนวอีโรติกที่หลายหลาก” (หน้า 12) แต่ฉลิบไรคงลืมไปว่าความหลากหลายกับความมั่วซั่วนั้นไม่เหมือนกัน ความหลากหลายที่จะมีคุณค่าต่อผู้อ่านนั้นคือการที่ผู้อ่านรู้ว่าความหลากหลายที่นำมาเสนอนั้น หลากหลายด้วยอะไร ด้วยศาสนา? ด้วยความเชื่อ? ด้วยสีผิว? ด้วยภูมิศาสตร์? ด้วยยุคสมัย?
เมื่อฉลิบไรไม่ได้บอกข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องสั้นเหล่านี้ตั้งแต่ชื่อเรื่องจากต้นฉบับ หรืออย่างน้อยในภาษาอังกฤษ ชื่อผู้แต่ง ปี หรือยุคสมัยอย่างคร่าวๆ ที่เรื่องนั้นๆ ถูกเขียนขึ้นมาและถิ่นกำเนิดของเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง ความหลากหลายที่อุตส่าห์เสนอมานั้นมันก็แทบจะไร้ประโยชน์ และฟังดูเป็นข้ออ้างเพื่อที่จะ “มั่ว” เท่านั้นเอง
จากเรื่องสั้นทั้งหมด 14 เรื่องในรวมเรื่องสั้นอีโรติก พลับพลาแห่งเนื้อนานาง มีสองเรื่องที่ฉันอยากหยิบขึ้นมาพูดถึง นั่นคือ “โลกที่ไม่เคยรู้” และ “แมลงสาบวิเศษ” ทั้งนี้เพราะว่าฉันสนใจประเด็นอันเกี่ยวกับการสังวาสกับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ที่อยู่ในเรื่องสั้นทั้งสอง
น่าเสียดายที่ผู้แปลไม่ได้ให้รายละเอียดแก่เราว่าเรื่องสั้นทั้งสองเรื่องนี้แต่งโดยใคร และผู้แต่งเป็นหญิงหรือชาย การพยายามตีความและทำความเข้าใจเรื่องสั้นทั้งสองจึงจำกัดอยู่ตรงที่เรารู้ว่าเรื่องสั้นทั้งสองเป็นเรื่องของมนุษย์ผู้หญิงที่ฝันถึงการมีเพศสัมพันธ์กับอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ ใน “แมลงสาบวิเศษ” นั้น วัตถุในจินตนาการทางเพศของตัวละครคือ แมลงสาบ ส่วนใน “โลกที่ไม่เคยรู้” เป็นงู ที่มีสถานะกึ่งเทพผู้ศักดิ์สิทธิ์
ทั้งสองเรื่องมีความ “แปลกใหม่ ตื่นตาตื่นใจ” สำหรับคนอ่านที่เป็นคน ไทยอย่างเราหลายชั้นด้วยกัน ชั้นแรกมันแปลกด้วยว่ามันเป็นอีโรติกของคนต่างวัฒนธรรมกับเรา ใน “โลกที่ไม่เคยรู้” เป็นเรื่องของอียิปต์ ส่วน “แมลงสาบวิเศษ” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นที่นิวยอร์ก ความแปลกหรือความเอ็กโซติกชั้นที่สองมาจากวัตถุในการร่วมเพศที่ไม่ใช่มนุษย์ เมื่อเป็นเช่นนั้น ความแปลกอีกชั้นหนึ่งที่ติดตามมาคือ มันไม่ใช่เซ็กซ์ของทั้งแบบหญิงกับชาย หรือชายกับชาย หรือหญิงกับหญิง แต่เน้นไปที่การได้ร่วมรักสังวาสกับสิ่งลึกลับเหนือธรรมชาติออกไปอีก ดังเรื่อง “โลกที่ไม่เคยรู้” กล่าวว่า
มีความลึกลับหลายอย่างในชีวิต อำนาจที่มองไม่เห็นตัว ในจักรวาล ในโลกอื่นๆ ยิ่งกว่าโลกของเรา การเกี่ยวร้อยของสิ่งต่างๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ และรังสีที่เชื่อมโยงสัตว์เข้าด้วยกัน (หน้า 120)
“โลกที่ไม่เคยรู้” เป็นเรื่องผู้หญิงคนหนึ่งที่แต่งงาน มีสามีเป็นข้าราชการตำแหน่งใหญ่โตเป็นที่นับหน้าถือตา มีลูก แต่หลังจากย้ายไปอยู่ที่บ้านเช่าหลังใหม่ เธอได้พบกับความรักอันรัญจวนกับงู เธอบรรยายความรู้สึกที่มีต่อผู้มาปลุกอารมณ์ปรารถนาอันร้อนรุ่มของเธอว่า
สิ่งที่ฉันต้องการก็คือ นอนเล่น ฉันอดถามตัวเองไม่ได้ว่าเป็นไปได้ไหมที่ฉันตกหลุมรัก แต่ฉันจะรักงูได้อย่างไร หรือเธอเป็นเจ้าหญิงในหมู่เทพองค์หนึ่ง ฉันปล่อยความคิดให้ล่องลอยพร้อมกับนึกถึงว่า เธอยิ่งใหญ่ เพียงใด ความลับแห่งความงามของเธอคืออะไร ฉันมักถามตัวเอง จริงรึที่ฉันหลงใหลสีสันหลากหลายที่ผิวกายของเธอ หรือประทับใจกับวิธีใช้อำนาจอย่างฉลาดเฉลียวของเธอที่จ้องมองฉัน หรือลีลาที่เธอเยื้องกรายอย่างมีเสน่ห์เร้าใจ ระคนไปกับอันตรายที่ตื่นเต้นจนจับจิตฉัน (หน้า 112)
เมื่อเป็นดังนั้น เธอพยายามอธิบายการเกิดขึ้นของความรักอันแปลกประหลาดนี้โดยเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับพระนางคลีโอพัตราว่า
แต่แล้วฉันก็อดสงสัยไม่ได้ว่า เราจะรวมกันเป็นหนึ่งได้อย่างไร จะระงับความปรารถนาได้อย่างไร ความปลื้มเปรมแห่งร่างกายจะเป็นไปได้อย่างไรระหว่างผู้หญิงและงู แล้วเธอจะรักฉันเหมือนที่ฉันรักเธอไหม ความคิดนี้เข้าครอบงำฉันบ่อยครั้ง อย่างคลีโอพัตราไง นางคือตำนานแห่งความรัก นางมีเพศสัมพันธ์กับงูหลังจากหยุดหลับนอนกับผู้ชายของนางใช่ไหม นางเบื่อหน่ายการผจญภัยแห่งรักกับผู้ชายใช่ไหม ดังนั้นสัญชาตญาณของนางจึงไม่ถูกกระตุ้นอีกต่อไป ยกเว้นจะถูกกระตุ้นโดยความตื่นเต้นแห่งความกลัวใช่ไหม (หน้า 113)
จุดที่น่าสนใจและชวนให้ตระหนักตั้งคำถามมากที่สุดอยู่ตรงคำพูดที่ว่านางเบื่อหน่ายการผจญภัยแห่งรักกับผู้ชายใช่ไหม อันเป็นคำถามที่ท้าทายระเบียบสังคมสมัยใหม่อย่างถึงรากถึงโคนที่สุดว่า เป็นไปได้ด้วยหรือที่ผู้หญิงจะมีวันหน่ายเซ็กซ์กับผู้ชาย อาการหน่ายเซ็กซ์ของผู้หญิงในโลกที่เชื่อว่าการร่วมเพศที่เป็นปกติสามัญถูกต้องตามหลักสุขอนามัย คือการร่วมเพศระหว่างหญิง – ชายเท่านั้น มักจะอธิบายอาการเบื่อหน่ายเซ็กซ์ของผู้หญิงว่ามีสาเหตุมาจากความเสื่อมถอยทางร่างกาย ความเครียด และอื่นๆ แต่ไม่มีใครอธิบายว่า มันอาจจะเป็นเพราะเธอเบื่อที่จะมีเซ็กซ์กับ “ผู้ชาย” เท่านั้นเอง
เรื่อง “แมลงสาบวิเศษ” สร้างฉากการร่วมรักระหว่างตัวเอกกับแมลงสาบ ไว้อย่างเร่าร้อนหฤหรรษ์ว่า
แมลงสาบยังคงอยู่ที่นั่น หัวของมันขยับเขยื้อนไปข้างหน้า ถอยมาข้างหลังแล้วเสือกขึ้นๆ ลงๆ อย่างรุนแรง หนวดของมันแกว่งไกวไปมาอย่างรวดเร็ว ฉันจมดิ่งอยู่ในความรู้สึกซาบซ่าจนไม่รู้ว่า ฉันนอนนิ่งอยู่นานเท่าไร […] ฉันกรีดร้องอีกครั้งแต่ไม่ใช่เกิดจากความกลัว มันเป็นเสียงร้องครวญครางที่เกิดมาจากอารมณ์รัญจวนซึ่งแผ่ซ่านไปทั่วร่าง อันเป็นผลของความตั้งใจและการกระทำของมัน เสียงร้องอันเนื่องมาจากการปลดปล่อยทางเพศ ดำฤษณาที่ลึกล้ำอย่างที่ฉันไม่เคยรู้สึกมาก่อน ตาของฉันเริ่มปิด นอนนิ่งไปด้วยความเหนื่อยอ่อน เหงื่อโทรมกาย (หน้า 126)
ส่วนการร่วมเพศกับงูในเรื่อง “โลกที่ไม่เคยรู้” เป็นดังนี้
ฉันเริ่มมึนงงกับเสียงกระซิบอ่อนหวานราวเสียงดนตรี รู้สึกถึงความเย็นนุ่มและนิ่ม ความเย็นที่ผลิตอาการระริกไหวในร่างของฉันและทำให้ฉันเจ็บปวดเลยเรื่อยไปถึงความหวั่นผวา ฉันรู้สึกว่าได้สัมผัสตัว ‘เธอ’ ขณะ ‘เธอ’ เลื้อยเข้ามาในผ้าห่มและแล้วเขี้ยวเล็กๆ ทั้งสองของ ‘เธอ’ ที่เหมือนไข่มุกเริ่มเล้าโลมร่างของฉันไปจนถึงหว่างขา พลันลิ้นสีทองสองแฉกได้สอดแทรกเข้าไปลึกจนสุดง่ามของฉัน และเริ่มลิ้มรส และคาย – ลิ้มรสยาพิษแห่งตัณหาของฉันและคายน้ำหวานแห่งความสุขสุดยอด จนกระทั่งเนื้อตัวของฉันรู้สึกซ่าแล้วเริ่มสั่นเทิ้มเมื่อถึงจุดแปลบปลาบที่เจ็บปวดแต่สุขสม (หน้า 115)
ในเรื่อง “แมลงสาบวิเศษ” นั้น บอกว่าแมลงสาบเป็นตัวผู้ ส่วนงูในเรื่อง “โลกที่ไม่เคยรู้” นั้นเป็นงูตัวเมีย อาการเบื่อการร่วมเพศกับ “ผู้ชาย” จึงจำกัดลงไปอีกว่า เฉพาะผู้ชายที่เป็นมนุษย์เท่านั้น ส่วน “ตัวผู้” ที่อยู่ในสปีชีส์อื่นๆ นั้นไม่เป็นไร และเมื่อมันเป็นตัวผู้หรือสัตว์อื่น ๆ ที่เป็นตัวเมียแล้ว การร่วมรักจึงเป็นอิสระจากอวัยวะเพศชายของมนุษย์โดยสิ้นเชิง เพราะแม้ว่าแมลงสาบในเรื่อง “แมลงสาบวิเศษ” จะเป็นตัวผู้ก็จริง แต่มันหาได้มีลำลึงค์เยี่ยงมนุษย์ไม่ อวัยวะที่มันใช้สร้างความสุขสุดยอดให้กับผู้หญิงคือส่วน “หัว” และ “ลำตัว” ทั้งหมดของมัน รวมทั้งหนวดยาวๆ ของมันด้วย ส่วนงูในเรื่อง “โลกที่ไม่เคยรู้” นั้น ใช้ทั้งเขี้ยวและลิ้นสองแฉกของมันชำแรกเข้าไป
การค้นพบความรักใน “โลก” ใหม่ในเรื่องสั้นทั้งสองเรื่องนี้จึงเป็นการประกาศตัวเป็นอิสระออกมาจากโลกที่มีแต่ความชอบธรรมของ heterosexual หรือรักระหว่างหญิงและชาย และการสังวาสที่จำกัดอยู่แต่เพียงการใช้จู๋กับจิ๋มเป็นพาหนะเพื่อการเดินทางไปสู่ความสุขสุดยอด
ในที่สุด ฉันก็ขยับเขยื้อนตัวได้ ท่วมท้นด้วยความรู้สึกที่ว่าฉันอยู่ตรงขอบโลกใหม่ จุดหมายใหม่ หรือคุณอาจจะพูดว่าประตูแห่งความรักใหม่ก็ได้ ฉันโถมตัวลงบนที่นอนในสภาวะเหมือนฝัน ไม่สนใจเวลาที่ผ่านไป แม้ฉันจะได้ยินเสียงสามีและลูกๆ กลับมาในตอนเที่ยงก็ตาม ฉันค่อยๆรู้สึกตัวว่าเป็นมนุษย์อีกครั้ง เหน็ดเหนื่อยและตกใจเกี่ยวกับงู การมีอยู่และชนิดของมัน (หน้า 110-111)
คุณค่าของเรื่องสั้นทั้งสองเรื่องไม่ได้อยู่ที่การใช้ภาษางดงาม สละสลวย หรือพูดถึงเรื่องเพศอย่างละเมียดละไม หากมีคุณค่าในแง่ของการตั้งคำถามต่อประเด็นทางเพศเอาไว้อย่างแหลมคมและท้าทาย ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่มีอยู่ในเรื่องสั้นทั้งสอง แต่อย่างน้อย มันได้กระทุ้งให้เราตั้งคำถามต่อสิ่งที่เราคุ้นชินกับมัน สิ่งที่เราเคยคิดว่านี่คือ “สามัญสำนึก” สิ่งที่เราเคยเชื่อว่าเป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” เหมือนที่เราเคยเชื่อว่าเพศสัมพันธ์ระหว่างหญิงกับชายเป็นเรื่องธรรมชาติ ถูกต้อง หรือความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างคนกับคน เท่านั้นที่เป็น “ธรรมชาติ” และถูกต้อง
ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นอันแหลมคมเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำเสนอออกมาอย่างไร้ชั้นเชิง แต่เปิดโอกาสให้คนอ่านได้จินตนาการและเสริมต่อความคิด เพื่อจะถกเถียงต่อไปได้อีกอย่างไม่รู้จบ
เรื่องสั้นทั้งสองจบลงด้วยความผิดหวังของตัวละครเอกทั้งสองคน ใน เรื่อง “โลกที่ไม่เคยรู้” งูตัวหนึ่งถูกสามีเธอฆ่าตาย และเธอต้องย้ายไปจากบ้านหลังนั้น ส่วนในเรื่อง “แมลงสาบวิเศษ” เจ้าแมลงสาบถูกตุ๊กแกที่หญิงสาวเลี้ยงไว้เพื่อให้ช่วยกำจัดแมลงที่ไม่พึงประสงค์ในห้องกัดตาย
การเดินสวนทางกับ “สามัญสำนึก” ของคนทั้งโลกอาจจะยากเย็น แต่ เธอทั้งสองไม่เคยสิ้นหวัง ในเรื่อง “โลกที่ไม่เคยรู้” หญิงสาวหวังเอาไว้ว่า
บางที่วันหนึ่งสุดที่รักของฉันอาจเรียกฉันก็ได้… (หน้า 121)
ส่วนในเรื่อง “แมลงสาบวิเศษ” ตัวเอกในเรื่องตั้งใจเอาไว้ว่า
ฉันจะต้องหาเขาให้พบ (หน้า 130)
One thought on “พลับพลาแห่งเนื้อนานาง : ว่าด้วยอีโรติก”