ไอ้บองหลา

นลธวัช มะชัย เขียน
Summer Panadd วาด

[To read “A King Cobra and I” with an introduction in English, click here]

 ผมอยากเขียนจดหมายสักฉบับถึงตัวผมเองในอนาคตว่า

“มึงไม่ต้องคิดไปถึงขั้นที่ว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อลูกหลานของเรา แต่เราต้องสร้างลูกหลานของเราเพื่อเปลี่ยนแปลงยุคของเขาเอง ให้เขามีที่ยืน และสร้างทางเลือกของเขาเอง มึงเป็นแค่กรณีศึกษาของเขาเท่านั้นเอง ไม่ต้องคิดว่าจะร่างกฎหมายหรือสร้างโลกเพื่อเขา โลกในจินตนาการของเขาสวยงามกว่าของมึงตอนแก่เยอะ”

ฝากถึงผมในอนาคต เพื่อเตือนสติไม่ให้หลงระเริงในอำนาจ หากวันหนึ่งอำนาจมันต้องอยู่ในมือผม จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ แต่ก็ภาวนาอย่าให้อำนาจอยู่ในมือผมเลย หากอยู่แล้วผมจะต้องเป็นเหมือนผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราปัจจุบัน

บทบรรณาธิการ, The Last Stand ชัยภูมิสุดท้าย, 2018, หน้า 6

ไอ้บองหลา
(ทรงกรวย, 2019, หน้า 24-30)

 “ลำไผ่ชายป่าเสียดสี
กลั่นก่อบทกวีไร้ที่หมาย
ไร้ประเทศเขตแดนพังทลาย
ยามดอกไม้บันเทิงเริงระบำ”

ปลายฝนปี 2560 กลางหุบเขาฝนโปรยไพร เทือกเขาบรรทัด รอยต่อระหว่างจังหวัดพัทลุง-นครศรีธรรมราช เช้าวันเสาร์ดำเนินไปตามปกติ สายลม แสงแดดยังคงมาตามนัด สายหมอกทักทายหยอกล้อกับทิวเขาพร้อมกับปกคลุมผืนน้ำ ไอเย็นยะเยือกส่งกลิ่นหอมหวานของธรรมชาติหลังจากฝนตกหนักมาทั้งคืน ถนนลูกรังทางเข้าหมู่บ้านลื่นและเป็นสีน้ำตาลเข้ม แดดเช้าส่องลอดผ่านใบยางพาราหน้าบ้าน ที่ค่อยๆ ผลิใบรับสายฝนตามฤดูกาล พ่อนั่งจิบกาแฟกับเพื่อนบ้านสองสามคน เท่าที่ผมได้ยิน คงเป็นเสียงลุงจิต ลุงเอียด และพ่อ

ในวงสนทนาน่าจะเป็นเรื่องการเมืองท้องถิ่นที่ฤดูเลือกตั้งกำลังจะมาถึง แต่ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด แม่กำลังทำกับข้าวหอมฉุยในครัว แกงส้มปลากด ไข่เจียวและเคยจีแน่นอน ผมดมกลิ่นได้ แล้วม้วนตัวในผ้านวมผืนโปรดต่อ เมื่อคืนอ่านหนังสือทั้งคืนจนแทบไม่ได้นอน

ผมปิดผนึกซองจดหมาย จ่าหน้าซองด้วยบทกวีบทหนึ่ง ลงชื่อผู้ส่งเป็นผมเอง และลงชื่อผู้รับเป็นผมอีกคนหนึ่งในอนาคต ราวกับว่ามีบุรุษไปรษณีย์นั่งไทม์แมชชีนไปส่งจดหมายให้ผมได้ สองวันที่ผ่านมา ผมหมกมุ่นอยู่กับหนังสือสองเล่ม คือ ‘เดินสู่อิสรภาพ’ ของประมวล เพ็งจันทร์ กับ ‘แผ่นดินอื่น’ ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ หลังอ่านสองเล่มนี้จบเมื่อคืนผมจึงตัดสินใจเขียนจดหมายฉบับหนึ่งขึ้นยันเช้า

พี่เทา เด็กหนุ่มในหมู่บ้าน วิ่งแตกตื่นขึ้นมาจากในคลองหลังบ้าน แกรีบจนลืมผูกเรือไว้กับตอไม้ริมตลิ่ง รู้ตัวอีกทีเรือแกก็ถูกพัดออกไปกลางลำคลองเสียแล้ว

“ลุงจิต ลุงจิต เมียลุงถูกงูกัด ไปช่วยหน่อย ป้าณีถูกงูกัดอยู่ริมสวนยางฝั่งคลองนู้น เรือผมน้ำมันหมด พายไปไม่ไหว” พี่เทาพูดด้วยเสียงอ่อนล้า สีหน้าซีดเซียว

“งูกะปะเหรอ” ลุงเอียดพูดแทรกขึ้นมา

ทุกคนในวงสนทนาไม่ได้มีท่าทีตกใจอะไร เพราะในสวนยางพารามีงูกะปะอยู่เยอะแยะไปหมด ผมม้วนผ้านวมห่อตัวยืนดูอยู่ที่ประตูหน้าบ้าน แสงแดดเริ่มส่องเข้มขึ้น

“หม้ายๆ เห็นเขาว่างูบองหลา” พี่เทาพูดด้วยภาษาใต้ชัดถ้อยชัดคำ

ท่าทีของวงสนทนาเปลี่ยนไป ทั้งพ่อ ลุงจิต และพี่เทา กึ่งเดินกึ่งวิ่งลงไปที่เรือ ส่วนลุงเอียดเดินนำไปตัดไม้ไผ่ก่อนแล้ว เห็นแกบอกว่างูบองหลาแพ้ไม้ไผ่ ทุกคนรู้ดีว่าพิษของงูบองหลา หรืองูจงอางนั้นร้ายแรงแค่ไหน ผมรีบวิ่งตามลงไปด้วย

ถึงข้าพเจ้าในปี 2600

“ตอนนี้คุณคงอายุประมาณ 60 ต้นๆ ข้าพเจ้าขอเรียกสรรพนามแทนว่า คุณ แม้คุณจะเป็นตัวข้าพเจ้าเองและรู้จักข้าพเจ้าดีก็ตาม แต่ข้าพเจ้ายังไม่รู้จักคุณเลย มิหนำซ้ำยังมีหน้าเขียนจดหมายมาถามคุณถึงสามข้อ ดังที่แนบท้ายจดหมายฉบับนี้ โปรดตอบอย่างจริงใจ และก่อนตอบโปรดทบทวนว่าคุณเองยังเชื่อว่า ‘Hope is the only thing stronger than fear.’ อยู่อีกหรือไม่”

ด้วยรัก… และหวังว่าจะยังมีชีวิตตอบจดหมายฉบับนี้กลับมา

หากข้าพเจ้าเป็นตัวละคร ‘งู’ ในหนังสือเรื่อง ‘เดินสู่อิสรภาพ’ ของประมวล เพ็งจันทร์ ข้าพเจ้าจะทำเช่นไร? คำถามนี้ผุดขึ้นมาในหัวนับครั้งไม่ถ้วนตั้งแต่ไผ่ ดาวดิน ชายหนุ่มผู้ยืนหยัดต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนถูกจับด้วยข้อหามาตรา 112 ยุคสมัยนี้ความกลัวครอบงำปกคลุมไปทั่วขณะ ข้าพเจ้ามิทราบแน่ชัดว่าระหว่างผู้พยายามทำให้กลัว กับผู้ถูกทำให้กลัว ใครมีความกลัวครอบงำมากกว่ากัน? ในหนังสือเรื่องเดินสู่อิสรภาพของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ บันทึกเรื่องราวระหว่างการเดินทางโดยการเดินจากเชียงใหม่สู่เกาะสมุย บ้านเกิด อัดแน่นไปด้วยมุมมองทางปรัชญา ข้าพเจ้าเพิ่งอ่านจบไปเมื่อคืนนี้เอง

ฉากหนึ่งในเรื่อง ผู้เขียนบรรยายสภาวการณ์เผชิญหน้ากับความกลัวที่มาจากงูโดยผู้เขียนก็ไม่สามารถสรุปได้เหมือนกันว่าระหว่างผู้เขียน ประมวล เพ็งจันทร์ กับตัวงูนั้น ใครมีความกลัวมากกว่ากัน ช่างเหมือนข้าพเจ้าและเพื่อนร่วมยุคสมัยในตอนนี้เสียเหลือเกิน เรากลายเป็นอื่นไปแล้วบนแผ่นดินของเราเอง ในยุคที่ความรักและความกลัวพยายามแยกเราออกจากแผ่นดินเกิดอย่างบ้าคลั่ง

พ่อขับเรือประมาณ 15 นาที พวกเราก็เจอป้าณีนั่งอยู่ริมคลอง ถือท่อนไม้เปื้อนเลือดยาวราวๆ 2 เมตรอยู่ในมือ มีชาวบ้านสามสี่คนมาถึงก่อนพวกเรามุงดูป้าณีอยู่

“ฉันคิดว่าวันนี้ต้องตายแน่ ไอ้บองหลามันตัวใหญ่มาก เกิดมาไม่เคยเห็น” ป้าณีเล่าไปพลางกำไม้ในมือไว้แน่น

 “จะวิ่งก็ไม่กล้าวิ่ง กลัวมันฉกจากข้างหลัง โชคดีที่มีท่อนไม้อยู่ใกล้ๆ” แกพูดไปก็เอาไม้ในมือเขี่ยงูบองหลาที่นอนแน่นิ่ง ถูกแกตีที่หัวจนเกือบขาดไป

“มันน่าจะลงมากินน้ำ แล้วมาเจอพี่พอดี ถือว่าฟาดเคราะห์ไป” พ่อพูดด้วยน้ำเสียงห่วงใย

“ไม่เป็นไรก็ดีแล้ว” ลุงจิตผู้เป็นสามีช่วยพูดเรียกขวัญอีกแรงหนึ่ง

“เห็นเขาตะโกนกันลั่น ผมก็คิดว่าป้าโดนงูกัดซะอีก” พี่เทาพูดไปหัวเราะไป เมื่อเหตุการณ์เริ่มเป็นปกติ หลายๆ คนก็ถ่ายรูป และเซลฟี่กับซากงูตัวนั้นก่อนแยกย้ายกลับไป

ผมยืนนิ่งเงียบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

คุณว่าในท้ายที่สุดของการเผชิญหน้าระหว่าง ‘คน’ กับ ‘งู’ จะเกิดอะไรขึ้น?

แน่ล่ะ! เรากลัวงูทำร้ายเราจนตาย เราเลยชิงตีงูเสียก่อน จะได้ไม่มีโอกาสทำร้ายและเป็นภัยแก่เรา แน่ล่ะ! มันเป็นวิธีการที่ง่ายและดีที่สุด เพื่อความมั่นคงในชีวิตของเราต่อไป คุณว่าไหม? ท้ายที่สุด งูตายจากความกลัวของเรา อ้าว มันก็เป็นความตายเหมือนกันนี่ ? แต่โชคดีหน่อย งูไม่สามารถมีเหตุผลเป็นของตัวเองได้ บนดาวสีน้ำเงินดวงนี้ ดวงที่มีชื่อเล่นว่าโลกมนุษย์ หรือโลกของมนุษย์ มนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ จึงไม่มีความผิด ฉะนั้น ความตายของงู จึงไม่เท่ากับความตาย

หรือเรากำลังลดทอนความเป็นสิ่งมีชีวิตของงูอยู่นะ? เพื่ออะไร? เพื่อสร้างความชอบธรรมในการฆ่าอย่างนั้นหรือ? งูจะกลัวเราบ้างไหมนะ? หรือที่มันชูคอชูแม่เบี้ยขึ้นมาก็เพราะกลัวเราทำร้ายมันและแค่ปกป้องตัวเองตั้งแต่แรก?

เรากับงูใครมีความกลัวมากกว่ากัน? ข้าพเจ้าเต็มไปด้วยความสงสัยและคำถาม แต่คำถามของข้าพเจ้าจะมีความสำคัญอะไรกัน เพราะข้าพเจ้าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ จึงห้ามถามในประเทศนี้อยู่แล้วนี่

 […งูเป็นพิษภัยสำหรับคนเสมอในทัศนะ (ไม่นับกรณีที่เอางูมาคล้องคอถ่ายรูปเล่นตามห้างนะครับ เพราะงูพวกนั้นมีประโยชน์กับคน อย่างน้อยๆ ก็สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ทั้งๆ ที่บางตัวก็เป็นงูพิษจากป่านั่นแหละ แต่เป็นตัวที่คนตีไม่ตายครั้งก่อน มันบาดเจ็บ จึงพอเอามาฝึกให้เชื่องได้)…]

ผมโพสต์ข้อความนี้ลงเฟซบุ๊ก

“อย่าคิดเข้าข้างงูเลย” จู่ๆ แม่ก็พูดขึ้นมากลางวงข้าว ผมคิดว่าแม่คงเห็นสเตตัสเฟซบุ๊กผมแล้ว

หลังจากจัดการเรื่องงูกับป้าณีเสร็จ ผมกับพ่อก็รีบกลับมาที่บ้านเพราะสายจนเกือบจะเที่ยงแล้ว แม่รอกินข้าวอยู่ ปิดเทอมนี้ผมกลับมาอยู่บ้านสองอาทิตย์ เลยมีเวลานั่งหาบทความเกี่ยวกับเรื่องงูมาอ่านเพิ่มเติม

ไม่เคยได้ยินเรื่องเล่า ‘ชาวนากับงูเห่า’ เหรอ ตอนเด็กๆ ยายเล่าให้ฟังบ่อยๆ นี่ ยังไงงูมันไม่ดีหรอก เลี้ยงไม่เชื่อง ดูอย่างงูเห่าเป็นตัวอย่างสิ ไม่สำนึกบุญคุณ ยังแว้งฉกชาวนาตายได้เลย… ฉะนั้นงูตัวอื่นๆ ก็ไม่ต่างกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมงูกล่าว

ถ้าหากข้าพเจ้าเป็นตัวละคร ‘งู’ ในเรื่อง เดินสู่อิสรภาพ ข้าพเจ้าจะทำเช่นไร? เมื่อทบทวนความเป็นไปในยุคสมัยที่ความกลัวถูกครอบงำปกคลุมไปทั่วขณะ ข้าพเจ้าเริ่มทราบแน่ชัดแล้วว่าระหว่างผู้พยายามทำให้กลัวกับผู้ถูกทำให้กลัว ใครมีความกลัวมากกว่ากัน

โปรดรับรู้ไว้ ‘ความกลัวของท่าน’ จองจำสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำอย่างเรา… ท่านอยากให้ประวัติศาสตร์จารึกท่านแบบไหนใน ‘โลกมนุษย์’ ใบนี้ ท่านเป็นผู้ตัดสินใจ งูบองหลากล่าว

ขอโทษที ข้าพเจ้าลืมเรื่องที่จะถามไปหมดแล้ว
ไว้จะเขียนจดหมายมาหาใหม่

One thought on “ไอ้บองหลา

Leave a comment