ไดค์ไดอารี่

ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ เขียน

[Click here to read “Dyke’s Diary” in English translation]

จากคำนำผู้เขียน:

Dyke’s Diary เป็นข้อเขียนว่าด้วยมุมมอง ความคิด ทัศนคติของหญิงรักหญิงคนหนึ่งของประเทศไทย ที่มีต่อสังคม ต่อโลก ต่อสิ่งต่างๆรอบตัว

ที่ใช้คำว่า “ไดค์ไดอารี่” เนื่องจากมันเป็นคำคล้องจองกันพอดี เรียกว่าสัมผัสทั้งสระ สัมผัสอักษร

แล้วอีกอย่าง คอลัมน์นี้มันเกี่ยวกับเรื่องความคิด ความอ่านของคนเขียน มันมีความหมายไปกันได้ดีกับคำว่าไดค์ ซึ่งเมื่อก่อนเป็นคำที่ฝรั่งเอาไว้ด่าคนเป็นหญิงรักหญิง

“มันหมายถึงผู้หญิงที่ไม่มีความน่าพิสมัยไม่มีเสน่ห์ไม่น่าดูทั้งสิ้น แรงกว่าคำว่าเลสเบี้ยน

“แต่ต่อมากระบวนการเรียกร้องสิทธิของเลสเบี้ยนและขบวนการ เรียกร้อง สิทธิสตรีตะวันตก ได้นำเอาคำนี้มาใช้ใหม่ (Reclaim) เรียกกันเล่นๆ ในหมู่เพื่อนฝูงที่เข้าใจกัน ความหมายมันจะคล้ายๆว่าเป็นคนที่ดีกรีแก่กล้าในเรื่องของความคิด ในเรื่องของสิทธิสตรี ซึ่งมันจะกลับกันเลยกับที่สังคมมอง

“เป็นการเรียกเพื่อแสดงความชื่นชม ถ้าเรียกคนนี้ว่าเลสเบี้ยน มันก็ดูเป็นผู้หญิงธรรมดาแต่ถ้าบอกว่าเขาเป็นไดค์ ก็จะหมายถึงเขามีความเชื่อมั่นในตัวเองเป็นคนที่น่าชื่นชม

“จริงๆแล้วคำว่าไดค์นี่มีความหมายในนัยยะที่เป็นตัวของตัวเอง มีอิสระในตัวเอง ไม่แคร์ใครไม่ได้หวังพึ่งผู้ชายเพื่อการ อยู่รอด ไม่กลัวคำครหาของสังคม มีความเป็นมนุษย์ในตัวของตัวเอง ทำให้รู้สึกว่ามันก็เป็นคุณสมบัติที่น่าพิสมัยของการปลดปล่อยผู้หญิงจากการถูกกดขี่”**

**จากการให้สัมภาษณ์ของคุณอัญชนา สุวรรณานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มอัญจารี องค์กรสนับสนุนและปกป้องสิทธิคนรักเพศเดียวกัน

ภาพถ่ายฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ นามปากกา มน. มีนา บนปกนิตยสาร an: another way magazine, มีนาคม 2545. ถ่ายโดยสุไลพร ชลวิไล. ไฟล์ภาพได้รับอนุญาตให้ใช้จาก Thai Rainbow Archive, copyright Peter A. Jackson, Australian National University และ British Library Endangered Archives Programme.

ตอน : พวกรักร่วมเพศ

ตอนที่แล้วเขียนเรื่องเพศที่3 ตอนนี้ขอตามด้วยคำว่ารักร่วมเพศค่ะ นี่ก็เป็นอีกคำที่ทำเอาฉันอึ้งเวลาถูกเรียกน่ะค่ะ

ก็แหม…นึกภาพดูสิคะ รักร่วมเพศ มันเหมือนรักกันไป ร่วมเพศกันไป เท่านั้นเองชีวิตนี้ ทำราวกับว่าคนที่รักเพศเดียวกันนี่ไม่มีกิจกรรมอื่นอีกแล้วในชีวิตนอกจากการร่วมเพศกระนั้น

ทั้งที่ฉันก็ทำงานเหมือนกัน ไปตลาดเหมือนกัน ไปดูหนังเหมือนกัน เดินจัตุจักร ฯลฯ เหมือนกัน แต่ฉันรู้สึกว่าตัวเองถูกจับไปขึงอยู่ตรงคำว่า”รักร่วมเพศ”จนกระดุกกระดิกไปไหนไม่ได้ซะอย่างนั้นแหละ

คำเรียกคำนี้ ฉันเข้าใจว่ามันคงมาจากวงการแพทย์เพื่อจัดประเภทการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนน่ะค่ะ คือ เป็นคนจำพวกมีความรัก(และใคร่)กับเพศเดียวกัน

แต่ความหมายของมัน เหมือนไปเน้นการปฏิบัติการบนเตียง หรือการมีเพศสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกัน ไปเสียอย่างนั้น

ซึ่งมันส่งผลทำให้ คนทั่วไปมองว่ากลุ่มคนรักเพศเดียวกันนี้ หมกหมุ่นอยู่แต่กับเรื่องเซ็กส์ สนใจแต่การนอนกัน แต่เพียงเท่านั้น เป็นพวกบ้าเซ็กส์ เซ็กส์จัด ชอบล่วงละเมิดทางเพศกับเด็ก ๆ (ประเด็นนี้เกย์จะโดนเยอะ ทั้งๆ ที่จริงๆแล้วผู้ชายที่ล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กผู้ชาย กลับคือผู้ชายที่เป็นรักต่างเพศมากกว่าชายรักเพศเดียวกันอีกแน่ะ)

“เพราะพวกเขาชอบจะมีความสัมพันธ์ทางเพศรูปแบบใดก็ได้ไม่จำกัด” (แฟร้งค์ บริวไน นักหนังสือพิมพ์ ที่เขียนเกี่ยวกับ เรื่องการคุกคามทางเพศในเด็กโดยเฉพาะ -ข้อมูลจากหนังสือ เธอและเขามาจากดาวอะไร เขียนโดยอีริค มาคัส แมวสามสีแปล สำนักพิมพ์ ไซเบอร์ฟิช มีเดีย)

เพื่อนฉันคนหนึ่งนะคะ เธอเป็นหญิงรักหญิงค่ะ แม้ว่าเธอจะไม่มีบุคลิกแบบทอมบอยเลย เธอยังโดน”กลัว” มาแล้วเลยค่ะ

ครั้งนั้น เธอไปอบรมและต้องพักร่วมห้องกับหญิงสาวอีกนางหนึ่ง เข้าห้องพักก็อาบน้ำ เข้านอน ตามปกติ แต่หารู้ไม่ว่าหญิงสาวที่ต้องพักร่วมห้องกับเธอนั้น เขาไม่ปกติค่ะ เพราะเขานอนไม่หลับทั้งคืน เพราะกลัวว่าจะถูกเพื่อนของดิฉันไปทำมิดีมิร้ายล่ะ

ทั้งที่เพื่อนของฉันนั้น ไม่ได้สนใจเธอในแง่ชู้สาวเลยแม้แต่น้อย

คนส่วนใหญ่จะคิดอย่างนี้แหละค่ะ คิดว่าพวกรักเพศเดียวกันจะคิดแต่เรื่องเซ็กส์ในสมอง(เพราะรักไปร่วมเพศไป) ถ้าเป็นเลสเบี้ยน ก็คิดประมาณว่าเจอหญิงคนไหนก็ฟันดะไปซะหมด

ทั้งที่จริงๆแล้ว ไม่เห็นมีอะไรต่างกันเลย คนรักเพศเดียวกัน รักคนได้ทีละคนเช่นเดียวกัน (หรืออาจสองก็ได้เอ้าก็เหมือนคนรักต่างเพศที่มีแฟนสองคนอย่างไรล่ะ) มีรักแท้เหมือนคนรักต่างเพศมี มีรักลวง รักสลาย ไม่ต่างกันสักนิดค่ะ

คำว่ารักร่วมเพศ จึงน่าจะเป็นคำของคนทุกคนบนโลกนี้ ไม่ใช่เป็นคำของคนรักเพศเดียวกันแต่อย่างใด เพราะตราบใดที่คนเรายังฝักใฝ่ในกามรส ซื้อหาไวอาก้าราคาแพงมาเสริมสมรรถภาพทางเพศกันวุ่นวาย

ก็เรียกได้ว่าเป็นพวกรัก(การ)ร่วมเพศ ทั้งนั้นแหละค่ะ หรือใครจะเถียงว่าไม่จริง!!

ไฟล์ภาพได้รับอนุญาตให้ใช้จาก Thai Rainbow Archive, copyright Peter A. Jackson, Australian National University และ British Library Endangered Archives Programme.

ตอน : ไปซื้อหนังสือเลสเบี้ยนในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ!

เวลามีงานขายหนังสือ ฉันนำเอาหนังสือ an (ชื่อหนังสืออ่านว่า อัญ มาจากชื่อ อัญจารี – anjaree ค่ะ) นิตยสารทำมือสำหรับ “ผู้เป็นอื่น” ในสังคมกระแสหลัก ไปฝากขายที่บู๊ธอัลเธอร์เนทีฟไรเตอร์ (ศูนย์รวมหนังสือนอกกระแสทั้งหลายทั้งปวงนั่นล่ะ) ของคุณนิวัติ พุทธประสาท

เมื่อเอาไปวางขายแล้ว ฉันก็ได้ไปป่าวประกาศในเวบไซต์ของกลุ่มอัญจารีคือ http://www.anjaree.org ว่าเนี่ยนะ มีนิตยสารอัญไปวางขายในงานนั้นงานนี้ด้วย ถ้าอยากอ่านก็ไปหาซื้อได้เลยนะคะ ที่บู๊ธนั้นบู๊ธนี้ก็ว่ากันไป

ที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะกลุ่มผู้ใช้อินเตอร์เน็ต กับกลุ่มสมาชิกหนังสือนั้น เป็นคนละกลุ่มกัน คนเป็นสมาชิกหนังสือมัก จะอยู่ต่างจังหวัดและมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องต่อสู้ฝ่าฟันมากกว่ากลุ่มใช้อินเตอร์เน็ต แต่กลุ่มใช้อินเตอร์เน็ตแม้จะมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมดีแต่ก็ต้องเจอกับปัญหาประมาณว่าไม่สามารถให้ส่งหนังสือไปที่บ้านได้ เพราะเดี๋ยวคนที่บ้าน (อันประกอบด้วยพ่อแม่พี่น้องและญาติๆ) จะรู้ได้ว่าเราเป็นหญิงรักหญิง ในขณะที่มันสมควรเป็นเพียงเรื่องลับเฉพาะคนรู้ใจเท่านั้นมากกว่า

เคยมีนะคะ บางคนเป็นครูให้ส่งหนังสือไปที่ทำงานซึ่งก็คือโรงเรียนนั่นแหละ แต่พอดีตอนนั้นปิดเทอม ครูไม่อยู่ ชาวบ้านที่อยู่แถวโรงเรียนเห็นเข้าเลยเอามาเปิดอ่าน พอรู้ว่าเป็นนิตยสารหญิงรักหญิง ประจานเลยค่ะ “ครูเลสเบี้ยนวิปริต ไม่ให้สอนลูกเราหรอก” ทำเอาครูสาวคนนั้นเลยต้องทำการย้ายโรงเรียนหนีหัวซุกหัวซุน และไม่สมัครเป็นสมาชิกหนังสืออัญอีกเลยนับแต่บัดนั้นมา

หญิงรักหญิงจำนวนมาก แม้อยากอ่านนิตยสารฉบับนี้กันใจจะขาดสักแค่ไหน จึงไม่สามารถทำได้ เมื่อมันต้องเสี่ยงกับความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขนาดนี้ คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี จึงมักใช้อินเตอร์เน็ตในการติดต่อกับหญิงรักหญิงคนอื่นๆ ด้วยว่าวิธีนี้ปลอดภัยต่อตัวเองที่สุดแล้ว

แต่นิตยสารเลสเบี้ยนในเมืองไทย ยังไงๆก็ไม่อาจเหมือนนิตยสารเลสเบี้ยนเมืองนอกไปได้ ถึงกรมวิชาการ และสมาคมผู้จัดพิมพ์หนังสือแห่งประเทศไทยจะจัดงานส่งเสริมการอ่านมากแค่ไหน เพราะหญิงรักหญิงหลายต่อ หลายรายก็ไม่กล้าไปซื้อมาอ่านอยู่ดี นี่ขนาดคนขายประจำบู๊ธนี้ดูแสนจะสุภาพและใจดีเป็นที่สุดนะคะ

ถ้าบังเอิญต้องไปฝากวางในร้านที่คนขายเป็นโฮโมโฟเบีย (Homophobia) ที่เกลียดกลัวคนเหล่านี้อย่างไม่มีสาเหตุ ฉันว่ามันก็น่าสยองอยู่ไม่น้อยเหมือนกันนะ

แต่ยังไงก็เถอะ มีหลายรายมาเล่า (ผ่านกระดานข่าวในเวบไซต์) ให้ฟังว่า เห็นอยู่แต่ไม่กล้าหยิบ ทว่ากลับเลือกหยิบ หนังสือทำมือเล่มอื่นๆไปจ่ายตังค์แทน บ้างก็อ้างว่าเข้าไปซื้อไม่ไหว เพราะวางอยู่ลึกสุดใจมาก ส่วนบางคนที่กล้าหน่อยก็ใช้วิธีหยิบรวมกับหนังสือเล่มอื่นๆที่วางใกล้ๆกันมาทับๆหนังสืออัญ เป็นการสอดไส้ว่างั้นเถอะ (วิธีนี้คล้ายๆวิธีซื้อขายหนังสือ “โป๊มั้ยเพ่” เลยนะคะ)

แต่กว่าจะกล้าขนาดนี้ ก็ต้องเดินวนไปมาที่บู๊ธนี้หลายรอบมากกกก…ขอบอก (ฉันไปแอบสังเกตการณ์มา) และนั่น เพราะว่าการไปซื้อนิตยสารหญิงรักหญิงนั้น จำเป็นต้องใช้ความกล้าหาญสูงเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเทียบการไปซื้อหนังสือ เล่มอื่นๆ ที่คุณเพียงแต่หยิบเล่มที่อยากอ่านขึ้นมาแล้วก็จ่ายเงินไป

ที่ว่าต้องใช้ความกล้าหาญเป็นอย่างสูง นั่นเพราะว่าการไปซื้อนิตยสารอัญ (โดยเฉพาะถ้าคนซื้อคือหญิงรักหญิงที่ ไม่สามารถ เปิดเผยวิถีชีวิตทางเพศของตนได้) ถือเป็นการเปิดเผยตัว หรือ come out อีกอย่างหนึ่งของพวก เราชาวหญิงรักหญิงเชียวล่ะค่ะ

อย่างน้อย ก็ come out กับคนขายนั่นล่ะ เป็นอันดับแรกเลย

แต่ใครกันละคะ จะอยาก come out ไปเรื่อยเปื่อย ไม่ดูตาม้าตาเรือ ในเมื่อ out ที ประชาชนรอบข้างส่วนใหญ่ก็ยังรับ ไม่ได้กับวิถีชีวิตที่แตกต่างจากสังคมกระแสหลักอย่างนี้ (alternative lifestyle)

การมีสมาธิ สติ สัมปชัญญะที่แจ่มใสและมั่นคงอยู่เสมอ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะขาดเสียมิได้ (อย่าแปลกใจหากพบ ว่าหญิงรักหญิงส่วนใหญ่จึงมักชอบอ่านปาฏิหารย์แห่งการตื่นอยู่เสมอของท่าน ติช นัท ฮันห์ ค่ะ ha ha)

ดังนั้น เมื่อใช้สติทบทวนไปมาดีแล้ว (ด้วยการเดินจงกรมรอบบู๊ธหลายรอบประกอบการตัดสินใจ) หญิงรักหญิงทั้งหลายราว 95% จึงขอกลับเข้าไปอยู่ในตู้ (in the closet) ดังเดิมดีกว่า ปลอดภัยกว่าเป็นไหนๆ ผู้กล้าจึงมีเพียงไม่กี่ราย ที่ไปซื้อนิตยสารอัญในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ผ่านมา

ผู้กล้าจึงมีเพียง 29 ราย (หรืออาจจะน้อยกว่าเพราะบางคนอาจซื้อพร้อมกันทั้ง 3 เล่ม ไหนๆ ก็ไหนแล้ว) ที่ซื้อนิตยสารอัญในงานหนังสือล่าสุดที่ผ่านมา

จริงอยู่…แม้ยอดขายอาจไม่ดี สู้หนังสืออื่นๆไม่ได้ โดยเฉพาะแฮรี่ พ็อตเตอร์ หรือ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริง ฯลฯ แต่ ถ้าพูดกันถึงเรื่องความกล้าหาญของคนซื้อ ฉันถือว่ากินขาดหนังสือดังสองเล่มนั้นจริงๆค่ะ.

ไฟล์ภาพได้รับอนุญาตให้ใช้จาก Thai Rainbow Archive, copyright Peter A. Jackson, Australian National University และ British Library Endangered Archives Programme.

ตอน : เสื้อยืดตัว(ไม่)โปรด

ฉันมีเสื้อยืดตัวโปรดหลายตัว เป็นเสื้อตัวเล็กตัวน้อยแบบที่ฉันชอบใส่ บางตัวขาด กระรุ่งกระริ่ง แต่ฉันยังเก็บไว้ใส่นอน ด้วยว่าผ้านิ่มถูกใจเหลือที่ ในขณะที่บางตัวผ้าดี ดี๊ ดี แต่ฉันไม่แม้จะ ปรายตา มอง หรือถ้าต้องใส่ ฉันขอให้นั่นเป็นตัวเลือกท้ายๆได้ไหมนะ

ใช่แล้วล่ะ ฉันกำลังพูดถึงเสื้อยืดที่องค์กรฉันทำออกจำหน่ายเพื่อหาทุนมาสนับสนุนการทำงานนั่นเอง ความจริงแล้วมันก็เป็นเสื้อยืดสุดแสนจะธรรมดานะคะ ผ้ายืดธรรมดา ไม่วิลิศมาหราอะไรเลย

แต่…(ค่ะมีแต่)…แต่สัญลักษณ์ของกลุ่มอัญจารี อันคือเครื่องหมายผู้หญิง 6 อัน ยืนเรียงแถวเหมือน เห็ดเข็มทอง พร้อมที่อยู่เวบไซต์ http://www.anjaree.org นั่นทำให้ฉันคิดหนักเหลือเกิน เมื่อยามต้อง หยิบออกมาจากตู้เสื้อผ้าคราใด

ไม่เท่านั้นค่ะ นั่นยังไม่เท่าไหร่ คำที่สกรีนข้างหลังสิคะ ทำให้ต้องคิดหนักยิ่งกว่า “รักเพศเดียวกัน อีกทางเลือกของความรัก” เมื่อเจอคำนี้เข้า ก็เกิดอาการมือไม้อ่อนค่ะ รำๆจะเก็บกลับเข้าตู้ ไปเสียทุกครั้ง แต่ค่อยยั่งชั่วหน่อยที่บรรทัดถัดมาเป็นภาษาอังกฤษ “say no to homophobia” บางคนอาจไม่เข้าใจเท่าไหร่ เฮ้อ… (ถึงตอนนี้ฉันถึงกับเผลอถอนหายใจอย่างโล่งอกเลยเชียวค่ะ)

มานึกดูแล้วก็ให้รู้สึกว่า ฉันเองหรือเปล่าที่เป็นโฮโมโฟเบียเสียเอง ไม่กล้าใส่เสื้อที่มีคำที่ว่านั้นแปะป้ายประกาศ นั่นสินะ…คำถามที่ว่าทำเอาฉันอึ้งไปเหมือนกัน คนทำงานเพื่อให้สังคมเข้าใจเรื่องคนรักเพศเดียวกันกลับไม่กล้าใส่เสื้อรณรงค์เสียเอง บ้าหรือเปล่า

แต่ฉันว่าฉันไม่บ้าหรอกค่ะ และก็ไม่ใช่ฉันไม่กล้าใส่ เพียงแต่ฉันกลัวว่าใส่ไปแล้วอาจไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของฉันเท่านั้นเองจริงๆนะคะ

คนที่ใส่เสื้อยืดที่ว่านี้ ก็มีน้องผู้ชาย(ที่รักผู้หญิง)ที่บ้าน พ่อคุณเล่นใส่เอ๊า..ใส่เอา..ใส่ไปนั่น มานี่ จนบางทีฉันนึกอิจฉา แล้วนั่นเพื่อนที่ทำงานประเด็นเอดส์ ประเด็นเรื่องเพศ ตัวสั่นระริก อยากได้ไปใส่ (อีก) บ้าง เพราะใส่แล้วสวย เก๋ เท่ ใจกว้าง แต่ทานโทษนะคะ เธอมีแฟนผู้ชายค่ะ ขอบอก

มันเป็นเช่นนี้จริงๆค่ะ คนที่ใส่เสื้อที่มีคำเกี่ยวกับเลสเบี้ยน เกี่ยวกับเกย์ได้ ประมาณ 80% ไม่ใช่ หญิงรักหญิง หรือชายรักชายหรอกค่ะ แต่ว่าคือเพื่อนๆชาวรักต่างเพศ ผู้แสนจะใจกว้างของฉันนั่นเอง ไม่ใช่คนที่เป็นคนรักเพศเดียวกันหรอกค่ะ จะบอกให้

เช่นเดียวกัน เพื่อนๆ กลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV เอง พวกเขาส่วนหนึ่งก็ไม่กล้าใส่เสื้อยืด ที่มีข้อความ รณรงค์ให้สังคมไทยเข้าใจคนติดเชื้อ HIV เหมือนกัน ในขณะที่ฉัน ใส่เสื้อที่สกรีนคำว่า POSITIVE และมีเครื่องหมาย + ซึ่งหมายถึงการมีเลือดบวก ไปนั่นมานี่ได้อย่างสบายใจเฉิบ

ใช่ค่ะ เพราะว่าฉันไม่ได้ติดเชื้อ HIVนั่นไง ฉันเลยใส่เสื้อยืดดังกล่าวได้อย่างไม่แคร์ แต่ฉันไม่กล้า ใส่เสื้อของหน่วยงานฉัน น่าสงสารมั้ยเล่า

วันก่อนไปร่วมประชุมงานเกี่ยวกับหนังสือทำมือสื่อทางเลือกกับเพื่อนสองคน เพื่อนฉัน (เธอเป็น ญ.รัก ญ.ผมสั้นกุดคล้ายฉันนี่แหละค่ะ) ใส่เสื้อยืดของอัญจารีเตรียมตัวออกจากบ้านอย่างมั่นใจมาก แต่ฉันกลับไม่มั่นตามเธอเท่าไร

เลยถามเพื่อนอย่างไม่แน่ใจว่าใส่เสื้อยืดตัวนี้ไปแน่หรือ เพื่อนตอบมาว่าใส่สิ ด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่นมาก แต่ประโยคท้ายของเธอก็คือ เดี๋ยวสะพายเป้ขึ้นหลังคนก็อ่านไม่ออก มองไม่เห็นแล้วล่ะ

โถ…เพื่อนฉัน พยายามจะกล้า แต่ว่าก็มาตายประโยคสุดท้ายจนได้

เสื้อยืดที่ควรจะเป็นตัวโปรด จึงโปรดไม่ได้ เพราะใส่แล้วช่างให้ความรู้สึกไม่ปลอดภัย และเป็นอันตรายเสียยิ่งกว่าใส่ผ้าแถบรัดหน้าอกอีกค่ะ.

ไฟล์ภาพได้รับอนุญาตให้ใช้จาก Thai Rainbow Archive, copyright Peter A. Jackson, Australian National University และ British Library Endangered Archives Programme.

ตอน : ผู้หญิงเก่ง

อ่านบทสัมภาษณ์คุณหมอ พรทิพย์ ที่เขียนหนังสือชื่อ สู้เพื่อศพคิดอะไรได้หลายอย่าง โดยเฉพาะประเด็น ที่คุณหมอถูกถามถึงความเป็นผู้หญิงเก่ง

อ่านแล้วก็ให้รู้สึกเหมือนทุกครั้งที่เคยอ่านเรื่องราวความเป็นผู้หญิงเก่งของใครต่อใครที่เธอเหล่านั้นมักจะบอก จะให้สัมภาษณ์ว่า เธอน่ะนะไม่ชอบคบหากับเพื่อนๆ ที่เป็นผู้หญิงสักเท่าไหร่หร็อก เพราะผู้หญิงเนี่ยนะ สุดแสนจะขี้นินทา จู้จี้ จุกจิก ขี้บ่นคิดเล็กคิดน้อย และอื่นๆอีกมากมาย

ที่สรุปได้ว่าผู้หญิงเหล่านี้ไม่ค่อยจะน่าคบเล้ย สำหรับผู้หญิงเก่งๆน่ะนะคะ

ผู้หญิงเก่งทำราวกับว่าเธอนั้นข้ามพ้น ข้ามผ่าน เพศ ผ่านอะไรต่อมิอะไรไปแล้ว เป็นคนไปแล้ว ไม่ใช่เพศหญิงอะไรปานนั้นเชียวแหละ

ฉันว่ามันคล้ายๆกับสายตาของผู้ใหญ่บางคนมองดูเด็กวัยรุ่นอะไรอย่างนั้นน่ะ ที่มองแล้วก็เฮ้อ…เด็กสมัยนี้ พร้อมกับส่ายหน้าอย่างเหนื่อยหน่าย ประมาณว่าประเทศชาติไม่อาจหวังอะไรจากพวกเธอได้อีกแล้ว

ผู้หญิงเก่งจึงมักชอบให้สัมภาษณ์ว่า ชีวิตเธอนั้นแวดล้อมอยู่แต่เพื่อนชาย ใจสป็อต คือๆกัน ไม่คิดเล็กคิดน้อย ไม่จี้จี้จุกจิก และอีกหลายข้อดีที่นับไม่ถ้วนของเพศชาย ที่เพศหญิง หรือเพื่อนผู้หญิงของเธอ ไม่อาจเอื้อมปีนกระไดข้ามไปยังชนชั้นที่ไม่จุกจิก หยุมหยิมนั้นได้

ทำไมเป็นงั้นไม่รู้ซี…

หรือว่าอคติของคนเรามันมีหลายซับหลายซ้อน จนเกินคาดคิด อย่างเช่น คนทั่วๆไป ที่เขายอมรับกระเทย หรือชายแปลงเพศนั้น มันก็จะต้องมีข้อแม้ว่า กระเทยคนนั้นจะต้องเป็นกระเทยเรียบร้อย เธอก็จะต้องเป็นกระเทยแบบกุลสตรี(ที่ไม่ใช่น้องนิ๊ง) ห้ามกรี๊ดกร๊าด โวยวาย เหมือนนังตัวร้าย หรือนางตัวอิจฉาในละครที.วี.นะยะ …ว่ากันไปนั่น

แต่สำหรับฉัน…ฉันมีความสุขดีท่ามกลางเพื่อนผู้หญิงนิสัยจุกจิกจู้จี้ ขี้บ่น อารมณ์ปรวนแปร(ในวันนั้นของเดือน) เพราะบางทีฉันก็มีอารมณ์แบบนั้นเหมือนกัน

กับกลุ่มชายแปลงเพศ ฉันก็อยู่ได้สบายดีท่ามกลางเสียงแหลมๆ กรี๊ดกร๊าดของพวกเขา อยู่กับกลุ่มเกย์ก็อยู่ได้แบบ ไม่แปลกแยก จนบางทีฉันนึกแปลกใจตัวเอง

อ๋อรู้แล้วสงสัยจะเป็นเพราะฉันไม่ใช่ผู้หญิงเก่งนี่เองละค่ะ.

One thought on “ไดค์ไดอารี่

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s