คำฟ้องของคณากร เพียรชนะ

คณากร เพียรชนะ เขียน
Summer Panadd วาด

[To read “An Indictment of the Judiciary: Khanakorn Phienchana’s Life and Death” with an introduction in English, click here]


คำแถลงการณ์                                                                                                    สำหรับศาลใช้

คดีหมายเลขดำที่ ████/๒๕๖๑
คดีหมายเลขแดงที่            /๒๕๖๒

ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลจังหวัดยะลา
วันที่ ๔ เดือน ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
ความอาญา

ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดยะลา โจทก์

นาย████████      จำเลยที่ ๑
นาย████████      จำเลยที่ ๒
นาย████████      จำเลยที่ ๓
นาย████████      จำเลยที่ ๔
นาย████████      จำเลยที่ ๕

เรื่อง ความผิดต่อชีวิต อั้งยี่ ซ่องโจร ความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ลหุโทษ

ผมนายคณากร เพียรชนะ ขอแถลงการณ์ในฐานะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ดังนี้ คดีนี้เดิมนัดอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๐ เวลา ๙ นาฬิกา เนื่องจากเป็นคดีสำคัญ จึงต้องรายงานให้อธิบดีทราบ (แต่ไม่ใช่คดีความมั่นคงหรือคดีก่อการร้าย) ต่อมาอธิบดีมีคำสั่งมาทางระบบคอมพิวเตอร์ให้ส่งร่างคำพิพากษาและสำนวนไปตรวจ ดังนั้นเมื่อเรียงคำพิพากษาเสร็จแล้วต้องส่งร่างคำพิพากษาไปยังสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค ๙ ตรวจตามคำสั่งอธิบดี ปรากฏตามหนังสือรายงานคดีเอกสารหมายเลข ๑ และรายงานกระบวนพิจารณาเอกสารหมายเลข ๒

เมื่อร่างคำพิพากษาพร้อมสำนวน ถึงสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค ๙ แล้ว การตรวจร่างคำพิพากษาเริ่มกระทำโดยนาย████████ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำภาค ทำบันทึกว่าไม่เห็นด้วยกับผลคำพิพากษา ส่งต่อให้นาย████████ รองอธิบดีผู้พิพากษา ทำบันทึกว่าไม่เห็นด้วยกับผลคำพิพากษาและส่งต่อให้นาย████████ อธิบดีผู้พิพากษาภาค ๙ ทำคำสั่งที่หน้าบันทึกดังกล่าวโดยประทับคำว่า “ลับ” สั่งให้ผมเขียนคำพิพากษาใหม่ตามความเห็นของหัวหน้าภาคกับรองอธิบดี นอกจากนี้ อธิบดียังสั่งที่หน้าร่างคำพิพากษาด้วยว่าให้ดำเนินการตามบันทึก(ลับ)ที่แนบ สำหรับบันทึกดังกล่าวหากหัวหน้าภาคกับรองอธิบดีอ่านคำพิพากษาของผมดีๆ โดยไม่มีอคติ จะพบว่าเหตุผลของพวกเขานั้นไม่มีน้ำหนักที่จะหักล้างเหตุผลของผมที่เขียนลงในคำพิพากษาแต่อย่างใด ทั้งเมื่อตรวจร่างคำพิพากษาของผมแล้วกลับพบว่านาย████ ทำการตรวจแก้ไขคำผิด คำถูก ถ้อยคำสำนวนเสร็จสิ้นไปก่อนแล้ว นี่จึงเป็นที่สงสัยว่าแท้ที่จริงแล้วนาย████ก็เห็นด้วยกับร่างคำพิพากษาของผม แต่กลับต้องทำความเห็นเป็นไม่เห็นด้วยในภายหลังเพราะเหตุใด ปรากฏตามร่างคำพิพากษาเอกสารหมายเลข ๓ และบันทึกลับเอกสารหมายเลข ๔

ที่สำคัญที่สุด ตามกฎหมาย คือพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๑๑ (๑) เมื่ออธิบดีตรวจร่างคำพิพากษาแล้วหากไม่เห็นด้วยกับร่างคำพิพากษาที่ผมกับองค์คณะยกฟ้องจำเลยทั้งห้า อธิบดีต้องทำความเห็นแย้งติดสำนวนไว้ นั่นคือที่ถูกตามกฎหมาย แต่อธิบดีไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายกลับใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรมมีหนังสือลับ สั่งให้ผมเขียนคำพิพากษาใหม่ให้ลงโทษจำเลยทั้งห้า หากไม่ยอมกระทำตามสั่ง ให้ผมทำบันทึกชี้แจงเพื่ออธิบดีจะดำเนินการต่อไป ผมจึงสงสัยและกลัวอย่างยิ่งว่าจะดำเนินการต่อไปของอธิบดีคืออะไร เพราะอธิบดีเริ่มต้นด้วยการกระทำที่ผิดกฎหมายสั่งให้ผมแก้ไขคำพิพากษาโดยไม่มีอำนาจ แล้วอธิบดีจะใช้อำนาจอะไรมาลงโทษผม

เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวของอธิบดี เป็นเหตุให้การนัดฟังคำพิพากษาจากเดิมที่นัดไว้ในวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลา ๙ นาฬิกา ต้องเลื่อนไปเป็นนัดฟังคำพิพากษาวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๒ เวลา ๙ นาฬิกา ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาเอกสารหมายเลข ๕

ซึ่งหากผมกับองค์คณะยอมตามคำสั่งอธิบดีแล้ว ในคำพิพากษาและในสำนวนก็จะไม่ปรากฏหลักฐานใดๆที่ชี้ให้เห็นว่าเหตุที่ประหารชีวิตจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ และจำคุกจำเลยที่ ๒ และที่ ๕ ตลอดชีวิตแทนที่จะตัดสินยกฟ้องปล่อยจำเลยทั้งห้าไปนั้น เป็นเพราะคำสั่งของอธิบดี แต่จะปรากฏเป็นตราบาปในชีวิตของผมและองค์คณะ ซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อในคำพิพากษา นี่หรือคือความยุติธรรมที่อธิบดีมอบให้แก่ประชาชน นี่หรือคืออธิบดีผู้พิพากษา นี่หรือคือการใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ยังมีข้อสงสัยอีกประการหนึ่ง คือ อธิบดีจะสั่งให้ผมทำบันทึกชี้แจงอีกทำไม ชี้แจงว่าอย่างไร ในเมื่อร่างคำพิพากษานั้นถูกเขียนขึ้นอย่างละเอียด มีเหตุมีผลอยู่ในตัวครบถ้วนแล้ว ซึ่งอธิบดีต้องได้อ่านอย่างละเอียดแล้ว หรือว่านี่เป็นคำขู่ว่าหากไม่ยอมกระทำตามอาจถูกลงโทษ ฐานขัดคำสั่ง จะสั่งย้ายออกนอกพื้นที่หรือจะหาเรื่องตั้งกรรมการสอบตามที่เคยผมขู่ไว้ในคดีอื่น แต่ถึงอย่างไรผมก็ไม่ยอมทำบันทึกชี้แจง เพราะเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีกฎหมายให้อำนาจอธิบดีสั่งเช่นนั้น ผมจึงขอชี้แจงอธิบายมายังคนไทยที่รักความยุติธรรมทั้งประเทศเพื่อทราบความจริง

คดีนี้หากผมยอมกระทำตามคำสั่งอธิบดี จะมีผลให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ต้องโทษประหารชีวิตสถานเดียว นี่เฉพาะความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๙ ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๕ จะต้องโทษจำคุกสองในสามส่วน ในฐานะผู้สนับสนุน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ ประกอบ มาตรา ๘๖ คือ ต้องถูกจำคุกตลอดชีวิต ทั้งที่คดีนี้ผมกับองค์คณะคือนาย████████ พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยทั้งห้าได้ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง ต้องปล่อยตัวจำเลยทั้งห้าไป นอกจากนี้รองอธิบดียังกำชับไว้ในหนังสือลับด้วยว่าหากผมยืนยันยกฟ้องก็ให้ขังจำเลยทั้งห้าไว้ระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งผมไม่เห็นด้วยเพราะหากข้อเท็จจริงในคดีรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้ากระทำความผิดตามฟ้องแล้ว ศาลจะขังจำเลยทั้งห้าไว้ทำไม แต่ถ้าผมขัดคำสั่ง ผมคงถูกตั้งกรรมการสอบสวนท้ายที่สุดต้องเก็บของบอกลาอาชีพผู้พิพากษา นี่หรือคือ ความยุติธรรม ที่อธิบดีผู้พิพากษามอบให้กับประชาชนและผู้พิพากษา แต่ถึงอย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าผมจะยืนยันว่าจำเลยทั้งห้าไม่ใช่คนร้าย แต่ผมยืนยันว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นต้องทำให้ถูกต้องตามกระบวนการ ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งผู้เสียหายและจำเลย ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวน การใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานต้องกระทำโดยปราศจากอคติทั้งปวง ไม่ใช่กระทำโดยความรู้สึกส่วนตัว หรือตามคำสั่งของใคร ไม่ใช่เพราะอยากได้หน้า หรืออยากให้คนอื่นรู้ว่าตนเป็นผู้มีอำนาจสามารถควบคุมผู้พิพากษาและผลคำพิพากษาได้ ทั้งนี้ กฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งว่า อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๗ ซึ่งผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นธรรมและปราศจากอคติทั้งปวงและการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับผู้พิพากษาศาลยุติธรรมต้องมีความเป็นอิสระและดำเนินการโดยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๘๘ และ ๑๙๖

คดีนี้ชี้แจงโดยย่อเฉพาะส่วนสำคัญได้ว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันฆ่าผู้ตายทั้งห้าโดยใช้อาวุธปืนหลายชนิดยิง โดยมีจำเลยที่ ๒ และที่ ๕ เป็นผู้สนับสนุน การพิจารณาชั่งพยานหลักฐาน โดยสรุปเฉพาะส่วนสำคัญ ดังนี้

คดีนี้เป็นคดีฆาตกรรมเป็นคดีอุกฉกรรณ์ไม่ต่างกับคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานหรือภาคอื่นๆ คดีนี้ไม่ใช่คดีความมั่นคง ไม่ใช่คดีก่อการร้าย โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยทั้งห้าว่ากระทำความผิดฐานก่อการร้ายหรือความผิดต่อความมั่นคง แต่พยานหลักฐานทั้งหมดกลับเกิดจากหรือเกิดมีขึ้นในขณะที่จำเลยทั้งห้าถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์ซักถามเป็นเวลานานในฐานะผู้ต้องสงสัย ตามกฎหมายพิเศษคือกฎอัยการศึกที่ให้ควบคุมผู้ต้องสงสัยได้ ๗ วันและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ที่ให้ควบคุมผู้ต้องสงสัยได้ไม่เกิน ๗ วัน ขยายระยะเวลาควบคุมได้คราวละ ๗ วัน รวมทั้งหมดไม่เกิน ๓๐ วัน ที่ใช้สำหรับคดีความมั่นคงหรือคดีก่อการร้าย แต่กลับถูกนำมาใช้กับคดีนี้ซึ่งเป็นคดีธรรมดาทั่วไป โดยผมตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ต้องสงสัยนี้ มีศักดิ์ของความเป็นผู้บริสุทธิ์เหนือกว่าผู้ต้องหา แต่กลับมีสิทธิทางกฎหมายด้อยกว่าผู้ต้องหา เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับกฎหมายใกล้เคียงคือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๔ วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า “ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัว ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน” ดังนั้นเมื่อผมพิจารณาแล้ว จึงมีความเห็นว่า พยานหลักฐานต่างๆไม่ว่าจะเป็นผลซักถาม คำรับสารภาพหรือบันทึกการยืนยันข้อเท็จจริง ภาพถ่าย หรือสถานที่ ของจำเลยทั้งห้าในฐานะผู้ต้องสงสัย รวมถึงบันทึกคำให้การของจำเลยทั้งห้าที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวน ที่เกิดจากหรือเกิดมีขึ้นระหว่างที่จำเลยทั้งห้าถูกควบคุมตัวไว้โดยกฎหมายพิเศษนั้น เป็นพยานหลักฐานที่ไม่ควรรับฟัง แต่หากศาลจะรับฟังโดยอ้างเหตุผลใดๆก็ตาม ก็เป็นเพียงพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักน้อยมากๆต้องรับฟังอย่างระมัดระวังอย่างสูง กล่าวคือ ถ้าไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือมาประกอบสนัยสนุนแล้ว พยานหลักฐานดังกล่าวย่อมไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง อธิบายการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานที่จะนำมารับฟังประกอบโดยย่อ เฉพาะส่วนสำคัญ ๔ ส่วน ดังนี้

๑. คืนเกิดเหตุในที่เกิดเหตุพนักงานสอบสวนไม่ได้มาตรวจเก็บวัตถุพยานในที่เกิดเหตุทันที แต่มีอาสาสมัครกู้ภัยซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่เข้าไปเก็บพยานหลักฐานในคืนเกิดเหตุ เช่นปลอกกระสุน หัวกระสุน นำไปมอบให้พนักงานสอบสวนที่โรงพยาบาล ดังนั้นวัตถุพยานที่เก็บจากที่เกิดเหตุดังกล่าว จึงมีพิรุธ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง นอกจากนี้เมื่อพิจารณารูปแบบการปฏิบัติงานต่อคดีที่ไม่รัดกุมยังทำให้รูปคดีนี้มีพิรุธ

๒. พยานบุคคลปากนาย████████ ถูกควบคุมตัวเป็นคนแรก โดยการปิดล้อมของเจ้าหน้าที่โดยไม่ปรากฏเหตุแห่งการปิดล้อมที่แจ้งชัด การได้ตัวนาย████ มาเป็นผู้ซัดทอดจำเลยทั้งห้าจึงมีพิรุธ ทั้งการควบคุมตัวนาย████ ตามกฎอัยการศึก ในฐานะผู้ต้องสงสัย กระทำโดยไม่ปรากฏเหตุสงสัยที่ชัดแจ้ง เพราะขณะนั้นเจ้าหน้าที่ยังไม่มีหลักฐานอะไรในคดีนี้ที่จะเป็นเหตุให้สงสัยว่านาย████เป็นผู้ร่วมกระทำความผิด ทั้งเป็นการควบคุมตัวที่ปราศจากเสรีภาพ มีสิทธิด้อยกว่าผู้ต้องหา ดังนั้นคำซัดทอดของนาย████ และการยืนยันข้อเท็จจริงต่างๆ จึงมีพิรุธต้องรับฟังอย่างระมัดระวัง ส่วนโทรศัพท์มือถือของกลางที่โจทก์อ้างว่านาย████ ใช้ติดต่อสื่อสารเพื่อก่อเหตุนั้นไม่ได้ตรวจยึดได้พร้อมกับการควบคุมตัวนาย████ แต่ได้มาหลังจากเจ้าหน้าที่นำตัวนาย████ ไปควบคุมไว้ตามกฎอัยการศึก โดยตรวจยึดได้นอกตัวบ้านของนาย████ บริเวณเล้าไก่ อันเป็นที่เปิดโล่งผู้ใดจะเข้าไปก็ได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าตรวจพบสารพันธุกรรมของนาย████ ที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง นอกจากนี้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางยังลงทะเบียนเป็นชื่อผู้อื่น ไม่ใช่นาย████ ซึ่งไม่ได้มาเบิกความเป็นพยาน ไม่ปรากฏหลักฐานว่านาย████เคยใช้โทรศัพท์เครื่องนี้ ดังนั้นที่มาของโทรศัพท์มือถือของกลางนี้จึงไม่ชัดแจ้งเป็นพยานหลักฐานที่มีพิรุธ ไม่มีน้ำหนัก พยานหลักฐานโจทก์เพียงเท่านี้ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่านาย████ ใช้โทรศัพท์มือถือของกลางติดต่อกับผู้ร่วมกระทำความผิดเพื่อก่อเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นาย████ กล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยทั้งห้า แต่กลับไม่ถูกดำเนินคดี ดังนั้นคำซัดทอดของนาย████ จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังว่าอาจเกิดจากการบังคับ ขู่เข็ญหรือจูงใจ หรืออาจเป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใส่ร้ายจำเลยทั้งห้า ซึ่งหากจะรับฟังต้องมีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบ แต่เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานอื่นที่มีน้ำหนักมาสนับสนุน ประกอบกับที่นาย████ เบิกความว่าขณะฆ่าผู้ตายทั้งห้า ผู้ร่วมกระทำความผิดใช้อาวุธปืนหลายชนิด มีการใช้อาวุธปืนยิงต่อเนื่องกันหลายนัด แต่ในที่เกิดเหตุไม่พบปลอกกระสุนปืนหรือหัวกระสุนปืน ตามจำนวนและชนิดที่นาย████กล่าวอ้าง คำให้การของนาย████จึงเป็นพิรุธ เมื่อไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่มีน้ำหนักมาสนับสนุน ดังนั้นผลซักถาม คำซัดทอดหรือการยืนยันข้อมูลต่างๆ และคำให้การชั้นสอบสวนของนาย████ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง

๓. ส่วนที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๕ พาเจ้าหน้าที่ไปชี้สถานที่ซ่อนอาวุธปืนนั้น เกิดขึ้นขณะที่จำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๕ ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษก่อนส่งตัวให้พนักงานสอบสวน ซึ่งจำเลยที่ ๒ และที่ ๕ ปราศจากเสรีภาพและมีสิทธิทางกฎหมายด้อยกว่าผู้ต้องหา ทั้งที่มีศักดิ์ของความเป็นผู้บริสุทธิ์เหนือกว่าผู้ต้องหา ดังนั้นบรรดาถ้อยคำหรือบันทึกการยืนยันข้อเท็จจริงภาพถ่ายหรือสถานที่ ที่กระทำ โดยที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๕ จึงเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักน้อย ต้องมีพยานหลักฐานอื่นที่มีน้ำหนักมาประกอบสนับสนุน ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๕ พาเจ้าหน้าที่ไปดูสถานที่ซ่อนอาวุธปืน แม้ตรวจยึดอาวุธปืนได้แต่เป็นอาวุธปืนพกสั้นขนาด ๙ มม. จำนวน ๑ กระบอก ซึ่งไม่ใช่อาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุคดีนี้ ทั้งไม่ปรากฏว่าเกี่ยวข้องกับคดีนี้อย่างไร นอกจากนี้สถานที่ดังกล่าวเป็นที่เปิดโล่งไม่รู้ว่าเป็นที่ดินของผู้ใด ผู้ใดจะนำอาวุธปืนไปซ่อนไว้ก็ได้ นอกจากนี้ยังตรวจไม่พบสารพันธุกรรมของจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๕ ในอาวุธปืนหรือสถานที่ซ่อนอาวุธปืน ดังนั้นพยานสถานที่และอาวุธปืนดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักที่จะนำไปรับฟังประกอบสนันสนุนผลซักถาม คำซัดทอด คำรับหรือบันทึกยืนยันข้อเท็จจริง ของจำเลยที่ ๒ และที่ ๕ เมื่อจำเลยที่ ๒ กับที่ ๕ อ้างว่าที่รับสารภาพหรือยืนยันข้อเท็จจริงต่อเจ้าหน้าที่ไปเพราะถูกบังคับขู่เข็ญ พยานหลักฐานโจทก์จึงเช่นนี้ไม่มีน้ำหนัก ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๕ มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับสถานที่ซ่อนอาวุธปืนหรืออาวุธปืนที่พบ เมื่อไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่มีน้ำหนักมาประกอบสนันสนุน ดังนั้นผลซักถาม คำรับ คำซัดทอดหรือบันทึกการยืนยันข้อเท็จจริงภาพถ่ายหรือสถานที่ที่กระทำ โดยที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๕ ในศูนย์ซักถาม จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง

๔. ส่วนบันทึกคำให้การและการยืนยันข้อเท็จจริงของจำเลยทั้งห้าในฐานะพยาน ที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนนั้น ถูกจัดทำขึ้นในสถานที่และระหว่างที่จำเลยทั้งห้าถูกควบคุมตัวตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกฏหมายพิเศษที่ถูกนำมาใช้กับคดีนี้ซึ่งเป็นเพียงธรรมดาทั่วไป ซึ่งจำเลยทั้งห้าถูกควบคุมตัวโดยปราศจากเสรีภาพและมีสิทธิต้อยกว่าผู้ต้องหาทั้งที่มีศักดิ์ของความเป็นผู้บริสุทธิ์เหนือกว่าผู้ต้องหา ก่อนส่งตัวให้พนักงานสอบสวน เมื่อจำเลยทั้งห้านำสืบปฏิเสธบันทึกคำให้การและบันทึกยืนยันข้อเท็จจริงทั้งหมด โดยอ้างว่าเกิดขึ้นจากการบังคับขู่เข็ญ ส่วนโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่มีน้ำหนักมาประกอบสนับสนุนบันทึกคำให้การหรือบันทึกยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว ให้มีน้ำหนักน่าเชื่อ ดังนั้นบันทึกคำให้การในฐานะพยานหรือบันทึกยืนยันข้อเท็จจริงของจำเลยทั้งห้าที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวน จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง

เมื่อพยานหลักฐานอื่นทั้งหมดของโจทก์ที่จะนำมารับฟังประกอบผลซักถาม คำรับสารภาพ หรือบันทึกการยืนยันข้อเท็จจริง ภาพถ่าย หรือสถานที่ ของจำเลยทั้งห้าในฐานะผู้ต้องสงสัย โจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ดังนั้นพยานหลักฐานต่างๆไม่ว่าจะเป็นผลซักถาม คำรับสารภาพหรือบันทึกการยืนยันข้อเท็จจริง ภาพถ่าย หรือสถานที่ ของจำเลยทั้งห้าในฐานะผู้ต้องสงสัย จึงเป็นพยานหลักฐานที่ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบสนันสนุน จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง ต้องพิพากษายกฟ้อง จะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งห้าไม่ได้ ซึ่งอธิบดีไม่สามารถหาเหตุผลมาหักล้างคำวินิจฉัยของผมได้ จึงใช้วิธีง่ายๆ โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่อธิบดี คือ ทำหนังสือลับ สั่งให้ผมเขียนคำพิพากษาใหม่ (โดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ) ให้ลงโทษจำเลยทั้งห้า แต่ผมไม่ยอม

จึงเป็นพิรุธสงสัยอย่างยิ่งว่าเหตุใดอธิบดี จึงมีหนังสือลับ สั่งให้ผมลงโทษจำเลยทั้งห้า คำถามคือ อธิบดีต้องการอะไร ทำเช่นนั้นทำไม ซึ่งคำตอบนี้คงต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการศาลยุติธรรมค้นหากันต่อไป

ข้อสังเกตุอีกประการหนึ่ง คดีนี้ผมพิจารณาคดีคู่กับองค์คณะ โดยที่หัวหน้าศาลประจำภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาและอธิบดี ไม่ได้มานั่งพิจารณาคดีด้วยแต่อย่างใด ไม่ได้สัมผัสกับพยานหลักฐานในขณะสืบพยานแม้แต่ชิ้นเดียว แล้วเหตุใดบุคคลทั้งสามจึงมีอำนาจออกคำสั่ง (ที่อ้างว่าเป็นเพียงคำแนะนำ) ให้กลับคำพิพากษาจากพยานหลักฐานที่รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดจากให้ยกฟ้อง เป็นให้ลงโทษจำเลยทั้งห้า ถ้าหากทำเช่นนี้ได้ ต่อไปผู้พิพากษาก็ไม่ต้องเขียนคำพิพากษา กล่าวคือ เมื่อสืบพยานหรือไต่สวนคดีเสร็จแล้ว ก็ให้ส่งสำนวนให้อธิบดีเขียนแต่เพียงผู้เดียว อธิบดีก็จะได้เป็นผู้มีอำนาจชี้ชะตาชีวิตผู้อื่นแต่เพียงผู้เดียว ย้อนกลับมาที่หนังสือลับเมื่อสังเกตเหตุผลที่อธิบดีให้ลงโทษจำเลยทั้งห้านั้น ผมอ่านแล้วเป็นเหตุผลที่เลื่อนลอยไม่ชัดแจ้ง จึงเข้าใจว่าไม่มีเหตุผลที่จะหักล้างคำวินิจฉัยของผมได้ เพราะหากหักล้างได้อธิบดีจะต้องทำตามกฎหมาย คือ ทำความเห็นแย้งคำพิพากษาของผม ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๑๑ (๑) แต่อธิบดีกลับทำหนังสือลับให้ผมเป็นผู้เขียนคำพิพากษาขึ้นมาใหม่ ให้ผลคำพิพากษาเป็นไปตามที่อธิบดีต้องการคือลงโทษจำเลยทั้งห้า สำหรับรองอธิบดีกับผู้พิพากษาหัวหน้าภาคนั้น เข้าใจว่าน่าจะถูกอธิบดีครอบงำไม่ต่างไปจากผม ผมจึงไม่ขอกล่าวถึงท่านทั้งสองเพราะท่านทั้งสองน่าจะเจ็บช้ำระกำใจมาพอสมควรแล้ว ที่ต้องลดตัวเองจากผู้พิพากษาลงมาเป็นเพียงดั่ง “นิติกรบริการ” การกระทำของอธิบดีดังกล่าวไม่ใช่การอำนวยความยุติธรรม ไม่ใช่การใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย ผมจึงไม่สามารถที่จะกระทำตามคำสั่งอธิบดีได้

การกระทำของอธิบดี เป็นการแทรกแซงอำนาจตุลาการ ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๘๘ ที่บัญญัติว่า ผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ซึ่งไม่รู้ว่าอธิบดี ทำเช่นนี้มากี่ครั้งกี่หนและกี่คดีแล้ว การตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง การแก้ไขถ้อยคำในคำพิพากษาของผู้พิพากษาจนแทบไม่เหลือสำนวนเดิม การมีหนังสือลับให้ผู้พิพากษาเขียนคำพิพากษาใหม่ให้ผลเป็นไปตามที่อธิบดีต้องการ ย่อมทำให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นทั่วประเทศไม่มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี ทั้งเป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรีของผู้พิพากษา เป็นการทำให้ผู้พิพากษามีศักดิ์ลดลง ให้มีฐานะและสภาพเป็นเพียง “นิติกรบริการ” คอยรับใช้ทำตามคำสั่งอธิบดี

นอกจากนี้ การพยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาของผมซึ่งเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน โดยอธิบดีคนนี้ ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะมีขึ้นในคดีนี้ ก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ ขณะที่ผมรับราชการอยู่ที่ศาลจังหวัดปัตตานี ผมเป็นเจ้าของสำนวน คดีอาญาหมายเลขดำที่ ████/๒๕๖๑ หมายเลขแดงที่ ███/๒๕๖๒ ของศาลจังหวัดปัตตานี โจทก์ฟ้องโดยสรุปว่าจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยใช้อาวุธปืนยิง เมื่อคดียังไม่เสร็จการพิจารณา นาย███████ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในขณะนั้น เดินเข้ามาในห้องทำงานของผมบอกว่าคดีนี้เพื่อนโทรมาคุยด้วยและโน้มน้าวผมให้เชื่อว่าจำเลยทั้งสามกระทำผิดด้วยความจำเป็น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๗ โดยที่นาย████ไม่ได้ตรวจสำนวน สำนวนอยู่กับผมตลอดการพิจารณา แต่ผมยังไม่เห็นด้วย เมื่อคดีเสร็จการพิจารณาก่อนเรียงคำพิพากษา ผมต้องนำสำนวนไปปรึกษานาย████ตามคำสั่งอธิบดี แต่ปรึกษาเพียงคร่าวๆก่อนที่นาย████จะไปต่างประเทศ ได้ข้อสรุปคร่าวๆว่า น่าจะลงโทษจำเลยทั้งสาม ผมเริ่มเขียนคำพิพากษาและพิจารณาพยานหลักฐานอย่างละเอียด ส่วนนาย████ไปต่างประเทศ ระหว่างที่เรียงคำพิพากษาผมกับองค์คณะพบว่าจำเลยที่ ๑ ใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้าในขณะเกิดเหตุแต่ไม่ได้ร่วมกระทำความผิด ส่วนจำเลยที่ ๒ กับที่ ๓ ใช้อาวุธปืนยิงไปยังผู้ตาย จึงต้องแก้ไขข้อสรุปเดิมที่ปรึกษากับนาย████ไว้ ผมจึงโทรหานาย████ ที่อยู่ต่างประเทศ ทางแอพพริเคชั่นไลน์ โดยวิธีส่งข้อความโต้ตอบ แต่นาย████รับสายแล้วบอกว่าให้ปรึกษากับผู้พิพากษาอาวุโสหนึ่ง จากนั้นผมจึงนำสำนวนไปปรึกษาผู้พิพากษาอาวุโสหนึ่ง ได้ข้อสรุปว่าลงโทษจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้ยกฟ้อง ปรากฏตามเอกสารหมายเลข ๖

จากนั้นผมส่งร่างคำพิพากษาพร้อมสำนวนไปยังสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค ๙ ตามคำสั่งอธิบดี ผู้ตรวจร่างคำพิพากษาเริ่มจาก นาย███████ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำภาค(ขณะนั้น)ตรวจและบันทึกส่งต่อให้ นาย████████ รองอธิบดี ตรวจและทำบันทึกส่งต่อนาย███████ อธิบดี นาย████โทรหาผมแจ้งว่าในคดีดังกล่าวน่าจะเป็นเรื่องจำเลยทั้งสามกระทำด้วยความจำเป็น และให้ช่วยเหลือทางราชการ ผมก็รับฟังไว้

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ เวลา ประมาณ ๗ นาฬิกา ขณะที่ผมทำงานอยู่ในห้องทำงานที่ศาลจังหวัดปัตตานี นาย███████ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล โทรมาบอกว่าอธิบดีสั่งให้ไปพบทันทีที่สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค ๙ ซึ่งอยู่ที่จังหวัดสงขลา หากผมไม่ไปพบจะสั่งย้ายผมออกนอกพื้นที่ แล้วหัวหน้าศาลเอารถมารับผมไปพบอธิบดีตั้งแต่เช้าโดยไม่ให้ตั้งตัว แต่ผมไม่ไปด้วย ไปรถคันอื่น เพราะผมไม่ใช่ “นิติกรบริการ” เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ศาลจังหวัดปัตตานีน่าจะรู้กันทั้งศาล หัวหน้าศาลประจำภาคทั้งหลายก็รู้ เพราะผมเดินเข้าไปบอกพวกเขาในห้องทำงาน จากการถูกข่มขู่ ผมจึงปรึกษากับนาย█████████ ผู้พิพากษาซึ่งเป็นกรรมการศาลยุติธรรมศาลชั้นต้นที่ผมไว้วางใจ เกี่ยวกับการกระทำของอธิบดีว่าน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย ปรากฏตามภาพถ่ายข้อความจากแอปพลิเคชั่นไลน์เอกสารหมายเลข ๗

เมื่อผมไปถึงสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค ๙ ผมถูกอธิบดีต่อว่าต่างๆนาๆโดยเรื่องที่ไม่เป็น ธรรม เช่น ทำไมเขียนคำพิพากษาต้องมีย่อหน้า ผิดรูปแบบ บังคับให้ผมเดินทางกลับไปที่ศาลจังหวัดปัตตานีทันทีเพื่อแก้ไขคำพิพากษา ทั้งที่ผมเรียนอธิบดีแล้วว่าผมนำคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คติดตัวมาด้วยและมีข้อมูลพร้อมสามารถแก้ไขรูปแบบคำพิพากษาให้ได้ทันทีตามที่ท่านสั่งโดยไม่จำเป็นต้องกลับไปทำที่ศาลจังหวัดปัตตานี แต่อธิบดีก็ไม่ยอม นอกจากนี้อธิบดียังสั่งให้แก้ไขคำพิพากษาไปตามบันทึกการตรวจร่างคำพิพากษาที่ทำโดยนาย████████ หัวหน้าภาค ผู้ตรวจร่างคำพิพากษาเป็นคนแรก บันทึกว่าผู้ตายทำร้ายเจ้าหน้าที่โดยใช้เท้าถีบและมือชก ที่เกิดเหตุมีเป็นพื้นที่ที่กลุ่มก่อการร้ายเคลื่อนไหวก่อเหตุทำร้ายเจ้าหน้าที่ ผู้ตายขัดขืนไม่ยอมให้ตรวจค้น จำเลยทั้งสามอาจคาดไปได้ว่า ผู้ตายมีสิ่งของผิดกฎหมาย เช่น อาวุธปืน หรือวัตถุระเบิด เห็นสมควรส่งร่างคืนให้ปรับปรุง ทบทวนผลคำพิพากษาและดุลพินิจในการกำหนดโทษ จากนั้นส่งบันทึกให้นาย████ รองอธิบดี ซึ่งนาย████ทำความเห็นว่า กรณีดังกล่าวน่าจะเป็นเหตุจำเป็น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๗ จากนั้นส่งต่ออธิบดี ซึ่งนาย████ อธิบดี มีคำสั่งบนบันทึกถึงผมว่าคำพิพากษาไม่เป็นไปตามรูปแบบ (ข้ออ้างเดิมๆอีกแล้ว) จึงให้ปรับรุงร่างใหม่แล้วส่งตรวจอีกครั้ง ตามบันทึกเอกสารหมายเลข ๘

ซึ่งเรื่องนี้ผมวินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วในคำพิพากษา เป็นเรื่องที่ผู้ตายนุ่งโสร่งขับรถจักรยานยนต์มาถึงด่านลอยของเจ้าหน้าที่ทหาร แล้วเกิดมีปากเสียงกัน ผู้ตายขับรถหนี ส่วนจำเลยที่ ๒ กับที่ ๓ ใช้อาวุธปืนยิงเข้าที่ด้านหลังของผู้ตายกระสุนทะลุออกปาก ส่วนจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ร่วมมีปากเสียงแต่ซุ่มอยู่อีกที่หนึ่งห่างออกไป จากนั้นเจ้าหน้าที่ปิดล้อมที่เกิดเหตุไว้ ผลการตรวจที่เกิดเหตุไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด เพราะถ้ามีก็คงใช้ทำร้ายจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไปแล้วขณะที่วิวาท จึงไม่ปรากฏว่าจะมีเหตุจำเป็นตามกฎหมายที่ต้องฆ่าชาวบ้าน ตามที่รองอธิบดีให้ความเห็น ส่วนอธิบดีแม้จะไม่ได้มีคำสั่งบนบันทึกตรงๆว่าให้ผมแก้ไขร่างคำพิพากษาให้เป็นไปตามบันทึกของรองอธิบดี แต่อธิบดีมีคำสั่งบนร่างคำพิพากษาว่า ให้เจ้าของสำนวนดำเนินการตามบันทึกแนบท้าย ผมพิจารณาบันทึกดังกล่าวแล้ว มีความเห็นว่าหากมีผู้อื่นที่รู้เรื่องคดีนี้มาอ่านเขาคงคิดว่าช่างเป็นบันทึกที่ไร้เหตุผลสิ้นดี คนแบบนี้นี่หรือคือผู้ตรวจร่างคำพิพากษา หรือว่าการทำบันทึกของบุคคลทั้งสามนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะช่วยเหลือจำเลยทั้งสามไม่ให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงเท่านั้น เขาคงคิดเช่นนั้น ซึ่งจะไปห้ามความคิดคนอื่นคงไม่ได้ จึงเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องต้องพิจารณากันต่อไปว่าการตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟังนั้น สมควรกระทำหรือไม่ คุ้มค่าความเสี่ยงหรือไม่ ทำให้เสื่อมเสียซึ่งความยุติธรรมหรือไม่

นอกจากที่ระหว่างที่อธิบดีมอบคืนสำนวนและร่างคำพิพากษาทั้งส่งบันทึกให้ผม อธิบดีทั้งยังพูดเปรยๆว่าไม่อยากให้ใครถูกตั้งกรรมการสอบสวน ซึ่งนั่นเป็นคำขู่ครั้งที่สอง ครั้งแรกว่าจะสั่งย้าย ครั้งที่สองว่าจะตั้งกรรมการสอบ ทั้งที่ผมไม่ได้ทำอะไรผิด เพียงแค่เขียนคำพิพากษาโดยมีย่อหน้า ให้อ่านง่าย หรือใช้ถ้อยคำเป็นสำนวนของผมเท่านั้น เช่น “พิจารณาแล้วเห็นว่า…” แทนคำว่า “เห็นว่า” ซึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาบางฉบับก็เขียนว่า “พิจารณาแล้วเห็นว่า…” เช่นกัน ทั้งศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาบางท่านบางครั้งก็เขียนคำพิพากษาโดยมีย่อหน้าเช่นกัน

เมื่อไม่มีเหตุผลกันเช่นนี้แล้ว ผมก็ต้องรีบกลับไปที่ศาลจังหวัดปัตตานีแล้วแก้ไขคำพิพากษานำมาส่งให้อธิบดีทันทีในช่วงบ่ายวันเดียวกันได้สำเร็จ โดยยืนยันผมคำพิพากษาตามร่างเดิมเพียงแต่ปรับแก้รูปแบบไม่ให้มีย่อหน้า และถ้อยคำอีกเล็กน้อย ทั้งที่วันนั้นผมลาราชการต้องขึ้นเครื่องบินกลับภูมิลำเนาในเวลา ๑๖ นาฬิกา ซึ่งแจ้งให้อธิบดีทราบแล้ว ปรากฏตามร่างคำพิพากษาเอกสารหมายเลข ๙

จากการกระทำของอธิบดีที่พยานยามแก้ไขเปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาโดยไม่ยอมทำความเห็นแย้งตามกฎหมาย ทั้ง ๒ คดีดังกล่าว ผมคิดว่าอธิบดีพยายามหาเรื่องใส่ร้าย ทำให้ผมซึ่งเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ขาดความมั่นใจและเกรงกลัวต่ออำนาจอธิบดี โดยแกล้งตำหนิว่าผมเขียนคำพิพากษาไม่ดี เขียนผิดรูปแบบ เป็นการแสดงอำนาจบาตใหญ่อย่างไร้เหตุผล เอาเรื่องเล็กๆมาตำหนิให้เป็นเรื่องใหญ่ร้ายแรง สร้างความกลัวให้เกิดขึ้นในใจของผมผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน เพื่อที่จะได้ชักจูงให้ผมยอมตามที่อธิบดีสั่ง ทั้งเชื่อว่าอธิบดีทำเช่นนี้กับผู้พิพากษาเกือบทุกคนในภาค ซึ่งผมได้ยินเพื่อนผู้พิพากษาบ่นกันหลายคน แต่ไม่มีใครอยากจะต่อสู้หรือเป็นศัตรูกับอธิบดี ต่อมาอีกไม่กี่วันในระหว่างที่ผมลาพักผ่อน อธิบดียังให้เลขาโทรให้ผมเข้าไปพบที่สำนักงาน ซึ่งผมต้องยกเลิกตั๋วเครื่องบินและซื้อตั๋วเครื่องบินใหม่โดยไม่จำเป็น ผมจึงแจ้งว่าผมยอมให้ตั้งกรรมการสอบสวนแต่ไม่ยอมไปพบอธิบดีที่ไร้เหตุผลเช่นนี้

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๒ อธิบดี มีหนังสือถึงผมเป็นคำแนะนำ ในคำแนะนำนั้นเขียนว่า “ต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่ด้วย” (แล้วผู้ตายกับครอบครัวของผู้ตาย ไม่เห็นใจหรือ?) และให้กำหนดโทษจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ใหม่ จากที่ผมลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ ตลอดชีวิต ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๓ มีกำหนด ๑๕ ปี ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้ยกฟ้อง เป็นให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คนละ ๑๓ ปี ๔ เดือน ทั้งก่อนอ่านคำพิพากษาให้โทรหาอธิบดีด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าผมยอมทำตามคำสั่งอธิบดีหรือไม่ ปรากฏตามบันทึกคำแนะนำฉบับลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๒ เอกสารหมายเลข ๑๐

ผมไม่เห็นด้วยกับคำแนะนำของอธิบดี แต่ไม่กล้าฝ่าฝืนคำสั่ง เหตุที่ไม่เห็นด้วยเพราะจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ นี้กระทำความผิดต่างกันจำเลยที่ ๒ เป็นคนก่อเหตุและใส่ร้ายผู้ตายว่ามีอาวุธปืนแล้วยิงผู้ตายทั้งที่ผู้ตายไม่มีอาวุธ ส่วนจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ร่วมลงมือ จะให้ลงโทษเท่ากันได้อย่างไร ซึ่งผมอธิบายให้อธิบดีฟังแล้วแต่อธิบดียังยืนยัน ผมซึ่งขาดความมั่นใจและเกิดความกลัว จากการกระทำของอธิบดี ประกอบกับในคดีอาญา ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากยอมเห็นด้วยกับผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า ผมกับองค์คณะจึงต้องยอมลดโทษให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมอธิบดีต้องทำกับผู้พิพากษาและประชาชนถึงขนาดนี้ หลักฐานคือร่างคำพิพากษาจะแตกต่างกับคำพิพากษาที่แก้ตามคำสั่งอธิบดีที่อ่านให้จำเลยฟัง ปรากฏตามสำเนาร่างคำพิพากษาและสำเนาคำพิพากษาคดีดังกล่าวเปรียบเทียบกัน เอกสารหมายเลข ๙ และ ๑๑

ในความเห็นของผม การที่อธิบดีสั่งให้ผู้พิพากษาในภาคของตน เขียนคำพิพากษาออกมาในรูปแบบที่ต้องการ ทั้งทำการตัดต่อถ้อยคำสำนวนในคำพิพากษาของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนนั้น จนมองไม่เห็นถ้อยคำเดิมในบางครั้ง คล้ายกับว่าเป็นการจับเอาผู้พิพากษาทุกคนในภาคมาฝึกจัดระเบียบแถว บังคับให้ซอยเท้า ฝึกซ้ายหัน ขวาหัน ให้ชิน ฝึกให้เคยชิน โดยอ้างว่าเพื่อความเป็นระเบียบ เป็นการพยายามทำให้ผู้พิพากษาขาดความมั่นใจในการเขียนคำพิพากษา เพื่อให้ผู้พิพากษาทุกคนเคยชินในการเชื่อฟังคำสั่งอธิบดีและให้เห็นว่าคำสั่งอธิบดีเป็นสิ่งที่ต้องกระทำตาม เพื่ออธิบดีจะได้เป็นผู้ควบคุมผลคำพิพากษาได้ทั้งภาค เป็นการปิดหูปิดตาประชาชนไม่ให้รู้เห็นว่าคำพิพากษาที่แท้จริงนั้นเป็นเช่นไร การกระทำของอธิบดีจึงเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๘๘ มุ่งหวังเจตนาให้ผู้พิพากษาปราศจากอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ทั้งต้องการกดขี่ข่มเหงผู้พิพากษาให้สิ้นศักดิ์ศรีกลายเป็นเพียง “นิติกรบริการ” เพราะหากอธิบดีต้องการความเป็นระเบียบในการเขียนคำพิพากษาจริง อธิบดีสามารถออกระเบียบหรือขอให้ศาลยุติธรรมออกระเบียบ กำหนดรูปแบบคำพิพากษาที่อธิบดีเห็นว่าดีที่สุดเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุด ทั้งมีเหตุมีผลที่สุดออกมาให้ชัดแจ้ง อันเป็นที่ยอมรับของผู้พิพากษาทั้งหลาย เพื่อผู้พิพากษาทั้งหลายเขียนคำพิพากษาตามรูปแบบที่กำหนดก็ย่อมกระทำได้โดยง่ายเพราะอธิบดีเป็นคนมีความสามารถสูง แต่อธิบดีกลับไม่ทำ แล้วมากล่าวอ้างลอยๆว่าผู้พิพากษาเขียนคำพิพากษาผิดรูปแบบ ทั้งที่รูปแบบที่ถูกต้องชัดแจ้ง ทันสมัยเป็นที่ยอมรับของประชาชนนั้นยังไม่ถูกกำหนดขึ้น

เดิมทีในระหว่างที่ประเทศของเราอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ผมเข้ามาเป็นผู้พิพากษาในระหว่างที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เมื่อเขียนร่างคำพิพากษาเสร็จแล้วไม่ต้องส่งให้อธิบดีตรวจก่อนอ่านให้คู่ความฟัง เข้าใจว่าในขณะนั้นต้องการให้ผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ทั้งเป็นการป้องกันมิให้มีการแทรกแซงผลคำพิพากษา ทั้งนี้เมื่ออ่านคำพิพากษาแล้วอธิบดีสามารถตรวจคำพิพากษาได้ หากเห็นว่าผู้พิพากษาตัดสินคดีโดยทุจริตหรือไร้ความสามารถ มีอำนาจตั้งกรรมการสอบสวน หากพบว่ามีความผิดคณะกรรมการศาลยุติธรรมลงโทษผู้พิพากษาคนนั้นได้ตามกฎหมาย

สิ่งที่ผมทำลงไปในวันนี้ ผมทำเพื่อศาลยุติธรรม ทำเพื่อประเทศชาติและประชาชน ดังคำถวายสัตย์ที่ให้ต่อต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๒๕๒ ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้ “ข้าพเจ้านายคณากร เพียรชนะ ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้า จะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยปราศจากอคติทั้งปวง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน และความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายทุกประการ” ผ่านมาจนถึงบัดนี้ ๑๗ ปี ยังจำพระราชดำรัชโดยสรุปได้ว่า ให้เป็นคนดี ที่ไว้ใจได้ ให้เป็นคนดีที่พึ่งพาได้ ผมเข้าใจโดยส่วนตัวว่า หมายถึง การเป็นผู้พิพากษาที่ดีนั้นยังไม่เพียงพอ ต้องเป็นผู้พิพากษาที่ดีที่ประชาชนไว้วางใจได้ และเป็นผู้พิพากษาที่ดีที่ประชาชนพึ่งพาได้ด้วย ในวันถวายสัตย์ผมรู้สึก ภาคภูมิใจอย่างหาที่สุดมิได้ ในวันนี้หากผมทำตามคำสั่งอธิบดี ผมย่อมไม่ใช่ผู้พิพากษาที่ดี คือไม่ยึดมั่นในความยุติธรรม ประชาชนย่อมไม่ได้รับความเป็นธรรม ต่อไปประชาชนก็จะไม่ไว้วางใจ ทั้งไม่สามารถเป็นที่พึ่งในการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน เท่ากับผมไม่ทำตามคำถวายสัตย์ ซึ่งผมยอมตายเสียดีกว่าที่จะอยู่อย่างไร้เกียรติเช่นนั้น “ตายเสียดีกว่าที่จะอยู่อย่างไร้เกียรติ”

เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับผมนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ขณะนี้เพื่อนๆผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ทั่วประเทศ ก็ถูกกระทำไม่ต่างกับผม เจ็บช้ำระกำใจไม่ต่างกัน เพียงแต่พวกเขามีความอดทนสูงและเหตุการณ์อาจไม่รุนแรงเท่าที่ผมพบเจอ สิ่งที่ผมทำในวันนี้ ผมอาจถูกตั้งกรรมการสอบและถูกวินิจฉัยว่า กระทำผิดวินัยอันเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ผมคงถูกไล่ออกโดยไม่ได้รับเงินบำเหน็จ เพราะผมเป็นเพียงไม้ซีกแต่บังอาจไปงัดไม้ซุก ไม้ซีกย่อมแตกหัก

หากการกระทำของผมทำให้เพื่อนๆผู้พิพากษารุ่น ๔๖ และอาจารย์ประจำรุ่น ต้องเสื่อมเสีย ผมต้องกราบขออภัย ซึ่งผู้พิพากษารุ่น ๔๖ ที่ผมอยู่ในรุ่นนี้ เป็นรุ่นที่มีชื่อเสียงที่ดีมาโดยตลอด ทั้งความรู้ ความสามารถ ความซื่อสัตย์สุจริต เห็นได้จากไม่เคยมีผู้พิพากษาในรุ่นถูกร้องเรียนว่ากระทำผิด ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย ทั้งไม่เคยมีใครตายมาก่อน กล่าวถึงโดยย่อได้ว่า “ไม่จบ ไม่เจ็บ ไม่ตาย” เป็นผู้พิพากษารุ่นที่เหนียวมากๆ แต่ทุกอย่างต้องมีครั้งแรก ผมเป็นคนแรก ต้องขอโทษด้วยครับ

ในช่วงนี้เป็นช่วงที่เกิดวิกฤติ ประชาชนเสื่อมศรัทธาในศาลยุติธรรม อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นเหตุให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นทั่วประเทศไม่ได้รับความเป็นธรรมทางด้านเกียรติภูมิ คือ ต้องรับกรรมที่พวกเขาไม่ได้เป็นผู้ก่อ ยกตัวอย่าง เรื่อง บ้านพักตุลาการป่าแหว่งดอยสุเทพจังหวัดเชียงใหม่ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นทั่วประเทศ ต่างทำงานพิจารณาอรรถคดีของตนโดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดตำแหน่งที่ตั้งหรือก่อสร้างบ้านพักตุลาการแต่อย่างใด แต่สายตาของประชาชนมองผู้พิพากษาศาลชั้นต้นว่าบุกรุกป่าอยากมีบ้านพักในป่าดอยสุเทพ ซึ่งไม่เป็นความจริง แต่ไม่มีใครแก้ต่างให้ ครั้งหนึ่งผมถูกผู้ปกครองที่โรงเรียนของลูก ถามว่าทำงานอะไร ผมก็ตอบไปว่ารับราชการ ไม่บอกว่าเป็นผู้พิพากษา ไม่อยากตอบคำถามเรื่องบ้านพักป่าแหว่ง นอกจากนี้ยังมีเรื่องคำพิพากษาที่ประชาชนคิดว่าไม่เป็นธรรมอีกหลายเรื่อง ซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น แต่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งสัมผัสกับประชาชนต้องมารับกรรมที่ไม่ได้ก่อ นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาพิพากษาคดีสำคัญที่ประชาชนไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาหลายคดีอันเป็นที่รู้อยู่ทั่วไป ประชาชนไม่รู้ความจริงจึงอาจเข้าใจผู้พิพากษาศาลชั้นต้นผิดไป

นอกจากนี้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นทั้งประเทศ ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเงิน อันทำให้เกิดความไม่มั่นคงต่อการดำรงชีพมาเป็นเวลานาน ดังนี้

ประการแรก ในเวลาราชการผู้พิพากษาศาลชั้นต้นต้องพิจารณาคดีทำการสืบพยานในห้องพิจารณาและต้องสั่งคำร้องคำขอต่างๆ ตรวจร่างคำพิพากษาและคำสั่งที่พิมพ์แล้วทั้งวัน เมื่อคดีเสร็จการพิจารณาสืบพยานเสร็จต้องเขียนคำพิพากษา แต่ในตารางการทำงานกลับไม่มีเวลาเพื่อการเขียนคำพิพากษา ตารางการทำงานมีไว้เพื่อสืบพยาน ทำเวร เวรสั่ง ฯลฯ ดังนั้นผู้พิพากษาต้องอาศัยความสามารถส่วนตัวจัดเวลาให้ได้ ท้ายที่สุดต้องเขียนคำพิพากษานอกเวลางาน และต้องเขียนให้เสร็จภายในระยะเวลาอันจำกัด เรียกได้ว่า “สวย เก๋ เท่ ไว” คือ แต่นั่นการเสียสละเวลาส่วนตัวโดยที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน ต่างกับแพทย์ หากตรวจคนไข้นอกเวลาการทำงานปกติ แพทย์จะได้รับเงินค่าตรวจนอกเวลา ต่างกับพนักงานสอบสวน เมื่อได้รับสำนวนพนักงานสอบสวนก็จะได้รับเงินตอบแทนค่าสำนวน (หากผิดพลาดขออภัย) จึงมีข้อสงสัยในความเป็นธรรมว่าเหตุใดผู้พิพากษา จึงไม่ได้รับค่าตอบแทนการเขียนคำพิพากษาทั้งที่ต้องเขียนนอกเวลา ซึ่งการเขียนคำพิพากษาแต่ละคดี แต่ละครั้งที่ลงมือต้องมีเวลาว่างติดต่อกันประมาณ ๒ ชั่วโมง แต่ละคดีใช้เวลาหลายชั่วโมง หลายวัน กว่าจะเสร็จ (แล้วก็ถูกทางภาคแก้ไข จนแทบมองไม่เห็นร่างเดิม) นักเขียนทั้งหลายย่อมเข้าใจ

ประการที่สอง ผู้พิพากษาถูกห้ามมิให้ประกอบอาชีพอื่นเพื่อหารายได้เพิ่มเติม ดังนั้นจึงไม่อาจหารายได้เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตนเองเพิ่มขึ้นได้ ต่างกับแพทย์ที่สามารถเปิดคลินิกหารายได้เพิ่มเติมนอกเหนือจากการทำงานที่โรงพยาบาล ซึ่งหากแพทย์ไม่เปิดคลินิกก็จะได้รับค่าตอบแทน จึงมีข้อสงสัยในความเป็นธรรมว่าเหตุใดผู้พิพากษาจึงไม่ได้รับค่าตอบแทนในการที่ไม่สามารถประกอบอาชีพอื่นได้

ด้วยเหตุที่ไม่เป็นธรรมทางการเงิน ดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้พิพากษาขาดความมั่นคงและอ่อนแอทางการเงิน อาจก่อให้เกิดความอ่อนแอไม่มั่นใจ อาจถูกขู่ให้กลัวได้ง่ายและถูกชักจูงใจได้ง่าย การแทรกแซงคำพิพากษาหรือคำสั่งสามารถทำได้ง่ายขึ้น แล้วหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาอยู่ที่ใด ตัวอย่างที่ผม ถูกอธิบดีขู่ว่าจะย้ายออกนอกพื้นที่นั้น นำมาอธิบายเรื่องนี้ได้ กล่าวคือ ผมมาทำงานที่จังหวัดชายแดนใต้เพราะต้องการได้รับเงินค่าเสี่ยงภายรายเดือน หากถูกอธิบดีสั่งย้ายออกนอกพื้นที่ ผมก็จะไม่ได้รับค่าตอบแทนดังกล่าวอีก

หากมองว่าผู้พิพากษาได้รับเงินเดือนสูง ก็ต้องมองให้ชัดว่า เปรียบเทียบกับอาชีพอะไร และเปรียบเทียบกับใคร เมื่อมองโลกในความเป็นจริงในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันซึ่งค่าครองชีพสูงแล้วจะพบว่าผู้พิพากษาไม่ได้มีรายได้สูงดั่งที่ควรจะเป็น ข้อเท็จจริงที่ยอมรับกันทั่วไปคือ อาชีพผู้พิพากษาเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ไม่ด้อยกว่าอาชีพแพทย์ วิศวกร นักบิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา แต่ผู้พิพากษาไม่สามารถใช้ความรู้ความสามารถหารายได้เพิ่มเติมได้ ดังนั้น ผู้พิพากษามีรายได้น้อยกว่าอาชีพในระดับเดียวกัน

การเป็นผู้พิพากษาศาลชั้นต้นต้องงานอย่างหนัก ต้องอดทน ควบคุมการพิจารณาคดีในห้องพิจารณาที่มีปัญหาซับซ้อนขึ้นทุกวัน ทั้งต้องทนต่อสู้กับพลังอำนาจทั้งภายนอกและภายในที่พยายามแทรกแซงเพื่อให้ผลคำพิพากษาเป็นไปตามที่ผู้แทรกแซงต้องการ ประชาชนหรือสภานิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหาร จะปล่อยให้ผู้พิพากษาไม่ได้รับความเป็นธรรมและต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวอีกนานเพียงใด คงไม่มีใครอยากเห็นผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อยู่ในสภาพ “นิติกรบริการ” จึงขอให้ประชาชนเข้าใจผู้พิพากษาศาลชั้นต้นว่าที่จริงแล้ว ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอยู่เคียงข้างและต่อสู้เพื่อให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนมาโดยตลอด เหมือนที่ผมกำลังต่อสู้อยู่ในขณะนี้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมได้ดำเนินการส่งหนังสือพร้อมพยานหลักฐาน เรียกร้องไปยังประธานรัฐสภา สื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านทราบ นายกรัฐมนตรี สื่อให้รัฐมนตรีทุกท่านทราบ สื่อมวลชน ทั้งชี้แจงผ่านสื่อออนไลน์เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศเข้าใจผู้พิพากษาศาลชั้นต้นทั่วประเทศว่าอยู่เคียงข้างประชาชนมาโดยตลอด และจะให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนจนสุดชีวิต โดยเรียกร้อง ๒ ข้อ ดังนี้

๑. เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติ ออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม เพื่อห้ามกระทำการตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง ทั้งห้ามกระทำใดๆอันมีผลเป็นการแทรกแซงผลคำพิพากษา

๒. เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติและนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีให้ความเป็นธรรมทางการเงินแก่ผู้พิพากษาทั่วประเทศ ซึ่งทราบมีผู้พิพากษาบางกลุ่มจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้นานแล้วแต่มีข้อขัดข้องไม่สามารถส่งออกจากศาลยุติธรรมเพื่อนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติและคณะรัฐมนตรีได้

คำแถลงการณ์นี้ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล องค์คณะผู้พิพากษาและผู้พิพากษาในศาลนี้ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยแต่อย่างใด ท่านผู้พิพากษาหัวหน้าศาลและผู้พิพากษาที่ศาลนี้ล้วนแต่เป็นผู้มีความเป็นธรรมและมีความเมตตา ไม่มีใครรู้ว่าผมจะทำเช่นนี้

ผมขอฝากถ้อยคำถึงพี่น้องประชาชนชาวไทยและผู้รักความยุติธรรมทุกท่าน ไว้สองประโยค

“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา” “คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา” “คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา” “คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

“คำแถลงของผม อาจมีน้ำหนักเบาบางเหมือนขนนก แต่หัวใจผู้พิพากษาหนักแน่นปานขุนเขา จึงมอบหัวใจชั่งบนตราชู ยืนยันคำแถลง ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน”

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

นายคณากร เพียรชนะ
ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา

One thought on “คำฟ้องของคณากร เพียรชนะ

Leave a comment