บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ เขียน
[Click here to read the English version “Democracy Monument through 80 Years of Political Change, 1940-2021”]
1. บทนำ
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นอนุสาวรีย์ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมา มีการใช้พื้นที่ ตลอดจนการสร้างความหมายผูกพันที่น่าสนใจที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เพราะเป็นจุดสำคัญที่เชื่อมโยงโดยตรงและทางอ้อมกับประวัติศาสตร์ชาติไทย
บทความภาพนี้ต้องการอธิบายความหมายของระบอบการเมืองใหม่หลังการโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) และสถาปนาระบอบการเมืองใหม่ขึ้นมา โดยเรียกว่า “ระบอบรัฐธรรมนูญ” ในระยะแรก เนื่องจากความหมายของระบอบการปกครองที่เป็นเจ้าของอำนาจนั้น นับเป็นเรื่องใหม่ ทั้งยังมีความหมายซ้อนทับกัน กล่าวคือในพัฒนาการความเข้าใจระบอบการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดนั้นอยู่ในยุคสมัยที่มีการล้มล้างระบอบราชาธิปไตยในหลายประเทศ ดังนั้น การเรียกระบอบการเมืองภายหลังการล้มล้างอำนาจกษัตริย์ที่เคยมีอำนาจสูงสุด เด็ดขาด ก็นับเป็นเรื่องใหม่ การใช้คำเรียกยังสับสนและใช้แทนกันระหว่างคำว่า “รีปับลิก” (republic) อันหมายถึง “มหาชนรัฐ” หรือ “สาธารณรัฐ” กับคำว่า “ดีมอคกราซี” หรือ “ประชาธิปตัย” (democracy) ถูกใช้สลับกันเสมอราวกับว่าเป็นคำและความหมายเดียวกัน (บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ 2549, 74-99) ทำให้มีความพยายามที่จะกำกับควบคุมความหมายของการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่ามิใช่การล้มล้างสถาบันกษัตริย์อย่างสิ้นเชิงเหมือนกับระบอบการเมืองแบบมหาชนรัฐที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์อีกต่อไป แต่เป็นระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุด โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) และกษัตริย์ดำรงสถานะเป็นประมุขของประเทศ ดังคำอธิบายของคณะราษฎรซึ่งเรียกระบอบการเมืองหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองว่าเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ และเข้าสู่ยุครัฐธรรมนูญ จนถึงการปฏิวัติ 16 กันยายน 2500 ที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรียกยุคสมัยของตนว่าเป็นระบอบปฏิวัติ และเป็นยุคปฏิวัติ เพื่อแยกตัวออกจากยุครัฐธรรมนูญของคณะราษฎร
บทความนี้จึงสำรวจความหมายของระบอบรัฐธรรมนูญที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองผ่านช่วงเวลาต่างๆ ตั้งแต่เริ่มสร้างอนุสสาวรีย์ ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, พฤษภาคม 2535, 10 เมษายน 2553, การใช้พื้นที่อนุสาวรีย์ของขบวนการมวลมหาประชาชน 2556 จนถึงการฟื้นความหมายใหม่ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยภายหลังการถอดถอนหมุดที่ระลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรที่ข้างอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าของในหลวงรัชกาลที่ 5 โดยชี้ให้เห็นการให้คุณค่าและความหมายของรัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุดของประเทศและรูปแบบการปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด ทำให้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลับมาเป็นศูนย์กลางหนึ่งของการชุมนุมและมีการสร้างปฏิสัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การห่อหุ้มอนุสวาวรีย์ประชาธิปไตยตามแบบศิลปินร่วมสมัย และการจำลองเอาฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นทองเหลืองขนาดเท่าแบบ เพื่อสร้างและให้ความหมายใหม่แก่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในท่ามกลางบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
2. กำเนิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
เพื่อรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองและเฉลิมฉลองระบอบการเมืองใหม่ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามจึงริเริ่มสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นมา เรียกว่า “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” โดยมีพิธีเปิดในวันที่24 มิถุนายน 2483 ซึ่งนับเป็นวันชาติในสมัยนั้น จนกระทั่งมาเปลี่ยนเป็นวันพระราชสมภพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในภายหลัง
จอมพล ป. พิบูลสงครามได้กล่าวสุนทรพจน์ว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ก็ได้มีความเจริญก้าวหน้า และมีความสำเร็จในการพัฒนาประเทศที่เป็นผลจากการมีระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น รัฐบาลจึงได้สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
“…เชิดชูคุณค่าของประชาธิปไตย และเพื่อมีเครื่องเตือนใจให้พยายามผดุงรักษาระบอบนี้ให้สถิตสถาพรอยู่ตลอดกาล คณะรัฐบาลจึงลงมติให้สร้างอนุสสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสสาวรีย์นี้จะเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญก้าวหน้าทั้งมวล เป็นต้นว่า ถนนสายต่างๆ ที่จะออกจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมืองก็จะนับต้นทางจากอนุสสาวรีย์นี้ ถนนราชดำเนินที่เป็นแนวของอนุสสาวรีย์ก็กำลังสร้างอาคารให้สง่างามเป็นที่เชิดชูเกียรติของประเทศและเป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะทำให้ถนนนี้เป็นที่เชิดชูยิ่ง”
อ้างจาก ขวัญใจ เอมใจ 2541, หน้า 74

ที่มา: ประกอบ โชประการ, สมบูรณ์ คนฉลาด และ ประยุทธ สิทธิพันธ์ 2521
สุนทรพจน์ของจอมพล ป. พิบูลสงครามสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในสองประเด็น ประเด็นแรก คือความชัดเจนในการเรียกระบอบการเมืองใหม่ภายหลัง 24 มิถุนายน 2475 ว่าระบอบประชาธิปไตยและสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างชัดเจน ก่อนหน้านี้เป็นที่ทราบกันว่าความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” มีความเหลื่อมซ้อนในความหมายกับคำว่า “รีปับลิก” (republic) หรือมหาชนรัฐที่ไม่มีกษัตริย์ และมีการเรียกระบอบการเมืองใหม่ในช่วงแรกว่าเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ มีการเฉลิมฉลอง “รัฐธรรมนูญ” ในฐานะตัวแทนของความก้าวหน้า (บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ 2549, 63-102) โดยในที่นี้จอมพล ป. กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงในระบอบใหม่อย่างชัดเจนว่านี่คือระบอบประชาธิปไตย
ประเด็นที่สอง สุนทรพจน์ของพิบูลสงครามสะท้อนความประนีประนอมและเชื่อมโยงระหว่างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับการเมืองในระบอบใหม่ผ่านการสร้างความหมายของความก้าวหน้า หรือการพัฒนาให้เป็นสมัยใหม่ สุนทรพจน์นี้จึงเสมือนความพยายาม “คืนดี” กับสถาบันกษัตริย์ผ่านการเชื่อมโยงกับโครงการสร้างประเทศให้ทันสมัยซึ่งเดินมาอย่างต่อเนื่อง
คงต้องกล่าวด้วยว่า การสถาปนาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันชาติของปี 2483 นั้น หมายรวมไปถึงการสร้างความหมายอีกชุดหนึ่งให้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน กล่าวคือการกำหนดให้เป็นจุดเริ่มต้นของถนนสายต่างๆ ไปยัง “หัวเมือง” นั่นคือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในฐานะกิโลเมตรที่ศูนย์ และเป็นศูนย์กลางของความเจริญที่จะแผ่ขยายไปยังต่างจังหวัด ซึ่งเวลานั้นเรียกว่า “หัวเมือง”
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด ถนนราชดำเนินได้กลายเป็นลานสวนสนาม และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นจุดที่องค์ประธานรับการเคารพจากแถวของพลพรรคเสรีไท

ที่มา: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
3. 14 ตุลาคม 2516
เมื่อปรีดี พนมยงค์และคณะต้องถอยออกจากการเมืองเนื่องจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองจากกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 และการรัฐประหาร 9 พฤศจิกายน 2490 กล่าวได้ว่า “มันสมอง” และผู้สนับสนุนหลักจากสายพลเรือนของคณะราษฎรถูกขับออกจากปริมณฑลทางการเมืองไทย อาจกล่าวได้ว่าอำนาจการเมืองของคณะราษฎรสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ
หลังจากนั้นเป็นช่วงเวลาที่จอมพล ป. พิบูลสงครามถูกชักนำให้หวนกลับสู่เวทีการเมือง ในท่ามกลางการช่วงชิงอำนาจระหว่างพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ กับจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภายใต้แรงหนุนของฝ่ายอนุรักษนิยม ประกอบกับปัญหาการทุจริตการเลือกตั้งทำให้รัฐบาลจอมพล ป. ง่อนแง่นและต้องพ้นออกจากการเมืองไทยจากการรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 เท่ากับว่าสมาชิกของผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองคนสุดท้ายพ้นจากอำนาจการเมืองโดยสิ้นเชิง ขณะที่แกนหลักสายพลเรือนของคณะราษฎรพ้นจากอำนาจไปตั้งแต่รัฐประหาร 2490 แล้ว
ในยุคจอมพล สฤษดิ์ หันมาสร้างระบอบปฏิวัติ เพื่อแยกตัวออกจากยุครัฐธรรมนูญและยุคประชาธิปไตย จอมพลสฤษดิ์แสดงตัวต่างออกไปกับผู้นำการเมืองก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการยึดโยงตัวเขาเองกับสถาบันกษัตริย์ เช่นเดียวกับที่เขาได้รับการยอมรับในที่สาธารณะจากสถาบันกษัตริย์อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน
ยุคปฏิวัติไม่มีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ ไม่มีการเฉลิมฉลอง 24 มิถุนายน ในฐานะวันชาติอีกต่อไป อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลางเป็นวงเวียนขนาดใหญ่บนถนนราชดำเนิน ไม่มีแม้กระทั่ง “รัฐธรรมนูญฉบับถาวร” มีแต่ “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร” ที่กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติหน้าที่รัฐสภา รัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างเชื่องช้าจนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม และจอมพล ถนอม กิติขจร ได้สืบทอดอำนาจ การร่างรัฐธรรมนูญยังไม่แล้วเสร็จ จนกระทั่งปี 2511 ซึ่งเป็นการเปิดทางให้มีการเลือกตั้งปี 2512 เป็นครั้งแรกในรอบกว่าหนึ่งทศวรรษ
แต่จอมพล ถนอม ก็ไม่สามารถทัดทานสภาวะการต่อรองและเปิดกว้างทางการเมืองจึงต้องก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจตัวเองโดยการรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 ทั้งนี้ คณะรัฐประหารเลื่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญอีกหลายครั้ง จนกระทั่งสำนักพระราชวังมีการแต่งตั้งรัชทายาทซึ่งต้องมีการรับรองโดยคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา รัฐบาลถนอมจึงเร่งรัดการร่างและนำร่างรัฐธรรมนูญทูลเกล้าถวาย แล้วเสร็จและประกาศใช้ในวันที่15 ธันวาคม 2515 ก่อนจะมีการสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในวันที่ 28 ธันวาคม 2515 (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ 2551, 101-111)
ท่ามกลางบรรยากาศนี้ ความรู้สึกของประชาชนที่ผ่านยุคเผด็จการใต้จอมพล สฤษดิ์และจอมพล ถนอม รวมระยะเวลากว่า 15 ปี ทำให้เกิดความต้องการกติกาทางการเมืองที่มีความถาวรและเป็นประชาธิปไตย จากการเรียกร้องรัฐธรรมนูญจึงขยายไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งทำให้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลับฟื้นความหมายของการเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อร่างของจีระ บุญมาก ที่ถูกยิงเสียชีวิตถูกนำขึ้นเอาไปไว้บนรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทยที่วางอยู่บนพานแว่นฟ้าขนาดใหญ่

ร่างไร้วิญญาณของจีระ บุญมาก ถูกวางเอาไว้เหนือรัฐธรรมนูญ แนบแน่นกับรัฐธรรมนูญ ราวกับการคืนความหมายของอำนาจสูงสุดเป็นของปวงชนชาวไทย ที่ทอดชีวิตและร่างเหนืออนุสาวรีย์ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
หลังจากประชาชนได้ต่อสู้ เรียกร้องรัฐธรรมนูญมีชัยชนะเหนือเผด็จการทหาร สามารถร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยขึ้นและมีการเลือกตั้งทั่วไป แต่ความปั่นป่วนอันเนื่องมาจากปัญหาที่ทับถมมาหลายปี ประกอบกับบรรยากาศของสงครามเย็น ทำให้ขบวนการนักศึกษาถูกโดดเดี่ยวและเป็นเป้าหมายของการกำจัด ชัยชนะดังกล่าวจึงจบลงด้วยการสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์และการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519
4. 17 พฤษภาคม 2535
หลังเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์และการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นเพียงแค่วงเวียนกลับรถกลางถนนที่ไร้ความหมายใดๆ มีเพียงการรำลึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยการเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปวางพวงมาลาเท่านั้น
หลังจากการรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520 ทำให้บรรยากาศทางการเมืองผ่อนคลายลงและมีการร่างรัฐธรรมนูญ 2521 ที่เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ กล่าวคือเป็นการประนีประนอมระหว่างฝ่ายอำนาจนิยม-อนุรักษนิยมกับฝ่ายการเมืองที่เปิดช่องให้มีการเลือกตั้งทั่วไป โดยอำนาจที่แท้ยังอยู่ในมือกองทัพภายใต้อุปถัมภ์ของราชสำนัก นับเป็นพันธมิตรทางการเมืองใหม่ที่เผยตัวออกมาหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม
5. 10 เมษายน 2553
ภายหลังจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ดูเหมือนกับว่าประชาธิปไตยได้ถูกสถาปนาอย่างมั่นคงในประเทศไทย และคาดว่าจะไม่มีการเดินถอยหลังไปสู่การเมืองแบบเผด็จการอำนาจนิยมอีก โดยเฉพาะการรณรงค์ต่อสู้ทางการเมืองเพื่อผลักดันกองทัพออกจากการเมือง ซึ่งฝ่ายประชาชนกดดันให้มีการร่างกติกาใหม่ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเปิดช่องทางการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีคณะผู้ร่างจากการเลือกตั้งของประชาชน ผลของการต่อสู้หลังพฤษภาคม 2535 เป็นดอกผลก็คือรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งได้รับการยอมรับมากที่สุด
แต่ความขัดแย้งทางการเมืองไทยไม่จบเพียงแค่นั้น เพราะการเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตยที่ออกแบบตามรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น จำกัดการเข้าใช้อำนาจบริหารผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น อีกทั้งภาพลักษณ์ของนักการเมืองที่เลวร้าย ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจโดยใช้เงินซื้อเสียง เปลี่ยนมาเป็นการลงทุนในการเลือกตั้งและซื้อตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของนักการเมืองอย่างมาก ในขณะที่ศรัทธาต่อสถาบันกษัตริย์สูงเด่นจนเกิดการเปรียบเทียบ และทำให้สถาบันกษัตริย์กลายเป็นตัวแปรหลักของสมการการเมืองไทย
เมื่อรัฐบาล พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตรเข้าสู่อำนาจและถูกท้าทายด้วยความขัดแย้งจากหลายกลุ่มจึงนำมาซึ่งความพยายามล้มรัฐบาลทักษิณในทุกต้นทุน เริ่มจากขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและได้แรงหนุนอย่างมากจากปัญญาชน นักธุรกิจ ชนชั้นนำผู้ภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จนถึงขั้นการถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งขัดแย้งในระดับมูลฐานจากข้อเรียกร้องในเดือนพฤษภาคม 2535 อย่างสิ้นเชิง ความขัดแย้งในระลอกแรกนี้ยุติลงด้วยการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการยุบพรรคไทยรักไทย แต่ผู้สนับสนุนทักษิณยังมีอยู่มาก ดังจะเห็นได้จากชัยชนะของพรรคพลังประชาชนหลังการเลือกตั้งปี 2551 ซึ่งลงเอยด้วยการยุบพรรคพลังประชาชน แล้วเปิดช่องให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถตั้งรัฐบาลได้ นำมาซึ่งความร้าวลึกในสังคมไทย โดยกลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณหันมาตั้งขบวนการเสื้อแดง หรือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มีการชุมนุมใหญ่ ซึ่งถูกรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “ขอคืนพื้นที่” บริเวณถนนราชดำเนินในเดือนเมษายน จนมีผู้เสียชีวิต 26 ราย แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร 5 นาย และพลเรือน 21 ราย ในจำนวนนี้มีนักข่าวชาวญี่ปุ่นหนึ่งราย

ภาพโลงศพสีแดงถูกนำมาเรียงรายบนฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังจากนั้นเพียงหนึ่งเดือนเศษก็เกิดเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2553 รวมผู้เสียชีวิตเกือบร้อย และบาดเจ็บกว่าสองพันคน
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกห่อด้วยผ้าขาว ส่วนตัวพานแว่นฟ้าและสมุดรัฐธรรมนูญถูกห่อหุ้มด้วยผ้าสีแดง ทองธัช เทพารักษ์ แกนนำศิลปินที่ทำการห่อหุ้มอนุสาวรีย์อธิบายว่า เขาได้รับอิทธิพลและแนวคิดในการห่ออนุสาวรีย์จาก Christo และ Jean-Claude

เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 อย่างรุนแรงนั้นไม่ส่งผลสะเทือนต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์มากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอีกด้านหนึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองพระชนมพรรษาปีที่ 83 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชซึ่งหนึ่งในกิจกรรมนั้นคือการนำเอารถแข่ง Formula 1 มาวิ่งบนถนนราชดำเนิน โดยมีฉากสำคัญคืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 18 ธันวาคม 2553
6. 2556 ขบวนการมวลมหาประชาชน
ภายหลังการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยได้รับเสียงข้างมากและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าบริหารประเทศ ถึงแม้ฝ่ายต่อต้านทักษิณจะยังไม่มีพลังมาก แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำงานภายใต้กดดันมาโดยตลอด ตั้งแต่กรณีน้ำท่วมใหญ่ ปี 2557 จนถึงการแก้ปัญหาเรื่องการปรองดองซึ่งเป็นระเบิด
เวลาลูกใหญ่ จนกระทั่งมีการเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่ทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นมาทันที เพราะทุกฝ่ายเห็นว่าไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม ขบวนการต่อต้านทักษิณจึงเติบใหญ่ขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างอดีตพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มต่อต้านทักษิณกลุ่มต่างๆ เป็นขบวนการมวลมหาประชาชน หรือ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข)
ในการต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขบวนการ กปปส. เข้าชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพและทำการยึดศูนย์ราชการ กระทรวงมหาดไทย ทำเนียบรัฐบาล และพื้นที่สำคัญอีกจุดหนึ่งคืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและถนนราชดำเนิน
พื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและถนนราชดำเนินส่วนหนึ่งถูกยึดและทำกิจกรรมโดยกลุ่มศิลปินอาร์ตเลน (Art Lane) และคณาจารย์และศิษย์เก่าจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตลอดจนนักแสดงศิลปินนักร้องอย่างคับคั่ง
การชุมนุมของ กปปส. ยังไม่หยุด แม้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ประกาศยุบสภาและกำหนดการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ขณะที่กลุ่ม กปปส. หันมาไล่ล่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยฟ้องร้องทำให้ยิ่งลักษณ์ต้องพ้นจากการรักษาการอีกด้วย ขณะเดียวกัน ขบวนการ กปปส. ยังเรียกร้องให้มีรัฐบาลแห่งชาติจากการพระราชทานและทำการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ดังนั้น ขบวนการ กปปส. จึงมุ่งขัดขวางการเลือกตั้งในทุกรูปแบบทั้งการข่มขู่ คุกคามและปิดหน่วยเลือกตั้ง
แม้ว่าจะจัดการเลือกตั้งได้ใน 68 จังหวัด มีเพียง 9 จังหวัดที่ไม่สามารถเปิดให้ประชาชนลงคะแนนได้ มีผู้ใช้สิทธิลงคะแนนกว่า 20 ล้านคน (ร้อยละ 46.79) แต่มีผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญให้การจัดการเลือกตั้งดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และต้องกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ (บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ 2564, 235-246)
ท่ามกลางความตึงเครียด กองทัพบกประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 และขอเป็นตัวกลางเจรจากับทุกฝ่าย แต่ในที่สุดก็จับกุมผู้เข้าประชุมและก่อการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
7. ชีวิตใหม่ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
อริญชย์ รุ่งแจ้ง (Arin Rungjang) ได้รับเชิญจาก Adam Szymczyk (artistic director) ของ Documenta 14 ผลงานชื่อ “246247596248914102516… And then there were none” ของอริญชย์เป็นงานต่อเนื่องจากนิทรรศการชื่อ “And then there were none… Tomorrow we will become Thailand” ใน Athens, Greece ก่อนหน้านี้ อริญชย์ได้ทำการสืบค้นประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นแรงบันดาลใจให้ชาวกรีกลุกขึ้นสู้กับเผด็จการทหารในกรีซ (ShanghArt 2016) เกี่ยวข้องกับ) อริญชย์จึงได้สร้างผลงานสำหรับ Documenta 14 โดยทำการถอดแบบสามมิติของฐานประติมากรรมนูนสูงของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ด้านที่เป็นทหาร เพื่อสื่อความหมายจากประวัติครอบครัวของเขาเองกับประวัติศาสตร์ชาติ อริญชย์นำแบบจำลองดังกล่าวไปสร้างประติมากรรมทองเหลืองขนาดเท่าของจริง ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก (Piyanan 2018)

ภาพ: บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ผลจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 สร้างความเดือดดาลให้กับคนหนุ่มสาวอย่างมากการเกิด flash mob เกิดขึ้นถี่ ขบวนการต่อต้านรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรากฏขึ้นชัดเจนและมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนมากขึ้น ถึงก่อนหน้านั้นจะมีการชุมนุมและรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคมและใช้พื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอยู่บ้าง แต่การชุมนุมของนักศึกษากลุ่ม Free Youth ได้ชุมนุมเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1. ให้มีการยุบสภา 2. หยุดคุกคามประชาชน และ 3. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ (workpointToday 2020) นับเป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกของคนหนุ่มสาวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังจากนั้นก็เป็นม็อบแฮมทาโร่ ม็อบคำปราศรัยที่เขย่าการเมืองไทยมากที่สุดนับแต่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คือ “ม็อบเสกคาถาผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย” วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 หรือม็อบแฮรี่พ็อตเตอร์ที่ทนายอานนท์ นำภา ได้กล่าวคำปราศรัยถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาที่สุด และหลังจากนั้นก็มีกลุ่มต่างๆ แวะเวียนมาใช้พื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แม้ว่ารัฐบาลจะใช้กำลังกดดันอย่างเข้มข้น แต่การใช้พื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นพื้นที่ของการประกาศป่าวร้องข่าวสารทางการเมืองยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่ม LGBT กลุ่มทะลุฟ้า เป็นต้น

ภาพ: ถนอม ชาภักดี (Thanom Chapakdee)
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับการแสวงบุญในระบอบประชาธิปไตยและสามารถถูกตีความใหม่ได้ ตั้งแต่ขบวนการ LGBT จนถึงการสนับสนุนการปฏิรูปการเมือง และแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยแสดงให้เห็นผ่านการห่ออนุสาวรีย์ด้วยธงสีรุ้งขนาดมหึมา ป้ายข้อความทางการเมือง หรือแม้แต่การจูบหน้าอนุสาวรีย์ ผู้ประท้วงตระหนักว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีความสำคัญในฐานะที่เป็นทั้งฐานรากและสถานที่สำหรับประกาศป่าวร้องวาระทางการเมืองของพวกเขา

ในความพยายามควบคุมและกำกับพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการเอารั้วมากั้น เอากระถางดอกไม้มาตกแต่ง เพื่อมิให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่และใช้พื้นที่แสดงออกทางการเมืองนั้นกับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ถึงจะห้ามอย่างไร ผู้ชุมนุมก็ไม่ลังเลที่จะเข้าไปใช้อนุสาวรีย์ฯ

ภาพ: นัท เฟมินิสต์ปลดแอก #Wuttinan
เมื่ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทยวางไว้สูงสุดบนพานแว่นฟ้าได้กลายมาเป็นสถานที่สำคัญทางการเมือง การสืบค้นหาความหมายดั้งเดิมของระบอบรัฐธรรมนูญที่ต่อมาเรียกว่าระบอบประชาธิปไตยนั้น ยิ่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าใช้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีความผูกพันและเชื่อมโยงถึงรัฐธรรมนูญ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองไทยที่สถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ นับแต่ พ.ศ. 2475
ไม่มีใครรู้ว่า ความขัดแย้งทางการเมืองไทยระลอกนี้จะจบลงเมื่อใด แต่เราจะเห็นได้ว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลายมาเป็นพื้นที่ของการแสดงออกถึงความรับรู้และความคาดหวังใหม่ของคนหนุ่มสาวที่มีต่อการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจึงกลับมามีความหมายในทางการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้นได้
อ้างอิง
ขวัญใจ เอมใจ. 2541. “ประวัติศาสตร์และความทรงจำบนถนนราชดำเนิน ทางมีเพราะคนเดิน” สารคดี , ปีที่ 18 ตุลาคม 2541, หน้า 50-78.
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ. 2564. การเมืองไทยร่วมสมัย. พิมพ์ครั้งที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพ: สถาบันพระปกเกล้า.
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ. 2549. รัฐธรรมนูญสถาปนา: ชีวิตและชะตากรรมของประชาธิปไตยในวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิภาษา.
ประกอบ โชประการ, สมบูรณ์ คนฉลาด และ ประยุทธ สิทธิพันธ์. 2521. ปฏิวัติสามสมัย. กรุงเทพ: หนังสือพิมพ์รวมข่าว.
แปลก เข็มพิลา (รวบรวมและเรียบเรียง). ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์. รำลึกประวัติศาสตร์ “วันมหาวิปโยค 14 ตุลา 2516”. กรุงเทพ: ไม่ปรากฎผู้จัดพิมพ์.
มาลินี คุ้มสุภา. 2548. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์วิภาษา.
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. 2551. สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย. มูลนิธิสายธารประชาธิปไตย.
Pianan, Gail. 2018. Interview with Arin Rungjang. Time Out. January 1, 2018. (Accessed October 6, 2021, https://www.timeout.com/bangkok/art/interview-with-arin-rungjang)
ShanghArt. 2016. Arin Rungjang. (Accessed October 6, 2021, https://www.shanghartgallery.com/galleryarchive/work.htm?workId=104261)workpointToday. 2020. สรุป ‘เยาวชนปลดแอก’ เรียกร้องรัฐบาลยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รอฟังคำตอบใน 2 สัปดาห์ฬ 19 กรกฎาคม 2563. (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 6 ตุลาคม 2564, https://workpointtoday.com/free-youth/)
เกี่ยวกับผู้เขียน
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
One thought on “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในความเปลี่ยนผ่านทางการเมือง 1940-2021”